หมอธีระวัฒน์เตือน รับมือ “หนังยาวโควิด” อาการ 100 อย่าง บั่นทอนชีวิต

หมอธีระวัฒน์ เตือนรับมือ

หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เตือนอาการ ภาวะลองโควิด ทอดยาวเกิน 3 เดือน ชี้เป็น “หนังยาวของโควิด” มีได้ถึง 35-50% ของผู้ติดโควิดระยะสั้นไปแล้ว ระบุมีอาการสารพัด มีได้ 100 อย่าง ครอบคลุมแทบจะทุกอวัยวะของร่างกาย เช่น คล้ายหวัดใหญ่ มีการอักเสบเกิดขึ้นในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ปวดกล้ามเนื้อ มีอาการเหนื่อยล้ามหาศาล ขาดสมาธิ บั่นทอนคุณภาพชีวิต ทำงานไม่ได้ มีภาวะเครียดอย่างรุนแรง จนกระทั่งไม่สามารถออกกำลังได้เลย 

วันที่ 15 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ออก แถลงการณ์ร่วมต่อสถานการณ์อาการ Long COVID-19 และผลกระทบจากวัคซีน โดยจะมีการศึกษาและวิจัยร่วมกันกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต (ม.รังสิต) โดยอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต

ล่าสุดหมอธีระวัฒน์ ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด ภาวะลองโควิด (long COVID) และผลกระทบจากวัคซีนในระยะยาว ไว้น่าสนใจ โดยจั่วหัวเรื่องไว้ว่า

โควิด และวัคซีน ผลกระทบแบบยาว

หมอธีระวัฒน์ระบุว่า โควิดนี้มีได้แบบชนิดตอนเดียวจบ คือแบบสั้น ติดเชื้อแบบไม่มีอาการแพร่ไปให้คนอื่น เสร็จแล้วเชื้อก็หายไปจากตัวหรือติดเชื้อและเกิดอาการเบา กลาง หนัก จนถึงเสียชีวิต

หรือแบบต่อเป็นซีรีส์ สั้น ก็คือหายจากอาการทางปอด และอวัยวะอื่น ๆ แต่ตามต่อด้วยเส้นประสาทอักเสบแขนขาอ่อนแรง อัมพาต หายใจไม่ได้ หรือมีสมองอักเสบต่าง ๆ

ซีรีส์สั้นแบบนี้ อยู่ในระยะเวลาสามเดือน

ทั้งนี้ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงว่าอาการในครั้งแรกต้องหนักมากเสมอไป แม้แต่กลุ่มที่อาการน้อย

ซีรีส์ยาว ก็มีความผิดปกติทอดยาวออกไปอีก และตั้งชื่อว่าเป็นหนังยาวของโควิด หรือ ลองโควิด (long COVID)

รูปแบบลักษณะดังกล่าวนี้ทับซ้อนกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Myalgic Encephalomyelitis (ME)/Chronic fatigue syndrome (CFS) โดยลักษณะประกอบไปด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ตลอดเวลา มีอาการเหนื่อยล้ามหาศาล ทำงานไม่ได้ ขาดสมาธิ มีความผิดปกติทางระบบประสาทอัตโนมัติ และไม่สามารถออกกำลังได้เลย

ตามประวัติศาสตร์สามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ในปี 1934 ในนครลอสแองเจลีส ปี 1948 ที่ไอซ์แลนด์ ปี 1955 ที่ลอนดอน และในปี 1984 ที่เนวาดา

ในปี 1955 คุณหมอจากไอซ์แลนด์ ได้เริ่มใช้เทอมหรือคำเรียก ME จากการเทียบเคียงลักษณะความผิดปกติในน้ำไขสันหลังระหว่างผู้ป่วยที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลรอยัลฟรีในลอนดอน และผู้ป่วยในปี 1948 ที่ไอซ์แลนด์ Akureyri

โดยลักษณะอาการบ่งบอกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองและไขสันหลังร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและอ่อนแรงและมีตะคริวร่วมด้วย

และจากหลายเหตุการณ์ต่อมาจนกระทั่งในปี 1984 ถึง 1985 ที่หมู่บ้าน Incline ในรัฐเนวาดาก็เกิดลักษณะที่คล้ายกันเช่นเดียวกัน โดยทั้งหมดนี้มีอาการเริ่มต้นเป็นแบบติดเชื้อด้วยไวรัสทั้งหมด

และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า chronic fatigue syndrome หรือ CFS ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มอาการทั้งสองแบบนั้นน่าจะมีรากฐานเกี่ยวพันกับกระบวนการอักเสบในระบบประสาท

โควิดแบบยาว อาจมีได้สูงถึง 30-50% ของผู้ที่หายจากโควิดฉบับสั้นไปแล้ว และอาการที่เกิดขึ้นมีได้เป็น 100 อย่าง และครอบคลุมแทบจะทุกอวัยวะของร่างกาย โดยมีตัวร่วมโดยเฉพาะความแปรปรวนทางสมอง จิตและอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มี ความคล้องจองเหมือนกับ ME/CFS ที่กล่าวแต่ต้น ทั้งนี้โควิดเก่งกว่ารุ่นแรก ๆ ตั้งแต่ปี 1934 ทั้งนี้เพราะกระทบในคนมากมายกว่า และอาการดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่าที่เคยปรากฏมาก่อนในรุ่นแรก ๆ

จากหลักฐานของ ME/CFS ที่ได้จากรุ่นแรก ๆ ซึ่งอาจจะนำมาใช้อธิบายในโควิดนั้น โดยเป็นไปได้ว่าการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ เกิดขึ้นนอกสมองและระบบประสาทแต่สมองรับรู้โดยตอบโต้กับโมเลกุล ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของอนุภาคการอักเสบเหล่านี้ในเลือดและอาจเป็นไปได้ที่มีการส่งผ่านโมเลกุลเหล่านี้ผ่านผนังเส้นเลือดเข้าไปในสมอง

ทั้งจากการนำพาเข้าไปหรือซึมผ่านเข้าสมองโดยตรงในบริเวณที่ผนังกั้นไม่แข็งแรงและนอกจากนั้นโมเลกุลของการอักเสบเหล่านี้ยังพบได้ในเส้นประสาทเวกัส หรือเส้นประสาทสมองเบอร์ 10 ที่ทอดยาวลงมายังลำไส้และสามารถส่งผ่านการอักเสบเหล่านี้ขึ้นไปจนกระทั่งถึงก้านสมองในวงจรของ NTS (nucleus tractus solitarius) ที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งเส้นเลือดและหัวใจ เป็นต้น

และน่าจะมีผลตามติดต่อเนื่องไปถึงกระบวนการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ที่มีการควบคุมจากสมองตั้งแต่ในส่วนของ ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (pituitary) และต่อเนื่องมาถึงระบบควบคุมฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายจนกระทั่งถึงต่อมหมวกไต

ปรากฏการณ์โควิดฉบับยาวจะกลายเป็นภาระสำคัญของระบบสาธารณสุขของทุกประเทศที่มีการระบาดของโควิด

ทั้งนี้เนื่องจากคนที่ถูกกระทบจะมีได้ทุกอายุ ไม่จำกัดเพศ และเกิดจากการติดเชื้อโควิดแบบรุนแรงและไม่รุนแรง ด้วยอาการที่เกิดขึ้นจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพของการทำงาน กระบวนการของความคิดแม้กระทั่งสมาธิ สติปัญญา ความจำจะถดถอย และรุนแรงถึงขนาดที่ต้องมีการปรึกษาหรือได้รับการรักษาจากแพทย์ในแทบทุกแขนง รวมกระทั่งถึงจิตแพทย์ เพราะมีความรู้สึกหดหู่ ปฏิเสธสิ่งรอบข้างจนกลายเป็นก้าวร้าว หรือมีปัญหาทางสังคมแบบในปรากฏการณ์หลังจากที่มีภาวะเครียดอย่างรุนแรง (post traumatic stress syndrome)

และยิ่งไปกว่านั้นยังมีปรากฏการณ์ของผลกระทบของวัคซีนโควิดซึ่งในเวลาที่ผ่านมาหลังจากฉีดไปแล้วเกิดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตรูปแบบเช่นเดียวกับโควิดแทบทุกประการ ในแบบสั้น ซีรีส์สั้นหรือแบบยาวทอดเวลาเป็นปี

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมองและเตรียมตัวไปพร้อม ๆ กัน