จุดความร้อนไทยพุ่ง 1 พันจุด เปิดรายชื่อ 9 จังหวัดเสี่ยงเกิดไฟป่าสัปดาห์นี้

ไฟป่า

GISTDA รายงานเช้านี้พบ 7 จังหวัดค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ส่วนจุดความร้อนไทยยังเกินพันจุด คาดการณ์พื้นที่ 9 จังหวัดเสี่ยงสูงเกิดไฟป่า ช่วงวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2567

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

พบ 7 จังหวัด ในของประเทศไทยมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ คือ หนองบัวลำภู 100.5 ไมโครกรัม สุโขทัย 87.7 ไมโครกรัม ชัยภูมิ 87.4 ไมโครกรัม เลย 85.7 ไมโครกรัม ลำพูน 81.4 ไมโครกรัม เพชรบูรณ์ 80.2 ไมโครกรัม พิษณุโลก 77.6 ไมโครกรัม

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครวันนี้ยังคงอากาศดี พบค่าฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงคุณภาพอากาศดี

ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,151 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 372 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 308 จุด พื้นที่เกษตร 190 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 157 จุด ชุมชนและอื่น ๆ 114 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 10 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก กาญจนบุรียังคงนำอยู่ที่ 247 จุด ชัยภูมิ 169 จุด และนครราชสีมา 76 จุด

Advertisment

ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านวานนี้พบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่เมียนมา 1,521 จุด ตามด้วยกัมพูชา 524 จุด ลาว 388 จุด และเวียดนาม 120 จุด

ทั้งนี้ GISTDA เฝ้าติดตามสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าด้วยแบบจำลองระบบสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามี 9 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า ได้แก่ ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และน่าน

โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่เขต ส.ป.ก. ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ สาเหตุอาจเกิดจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาก่อนเตรียมการเพาะปลูก หรือการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisment

ทั้งนี้ GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th

อนึ่ง การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า เป็นการประเมินด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจุดความร้อนสะสม (ทั้งข้อมูล VIIRS และ MODIS) ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ย้อนหลัง ประเภทการใช้ที่ดิน และข้อมูลสภาพอากาศล่วงหน้า (อุณหภูมิ และความชื้น) ของแต่ละช่วงเวลา

สำหรับแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับสีส้มต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM 2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น”