DSI รวบแก๊งคอลเซ็นเตอร์คาตู้ ATM กดเงินเหยื่อ หลังใช้กลอุบายโทรหลอกโอนเงิน มีพัสดุตกค้าง

ดีเอสไอรวบ ’แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ คาตู้เอทีเอ็ม ขณะกดเงินเหยื่อ หลังใช้กลอุบายโทรหลอกโอนเงิน มีพัสดุตกค้าง เป็นบัญชีเงินฝาก เอี่ยวยาเสพติด หลอกโอนเงิน ด้านไปรษณีย์เผยข้อมูล 6 เดือน มีประชาชนโดนหลอกแล้วกว่า 2 พันราย

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผบ.สำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศ และนายมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นดีเอสไอหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 2 ราย คือ Mr.Saravanan mutnusamy ชาวมาเลเซีย และ Mr.tan eng keon ชายชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นดีเอสไอหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม พร้อมของกลาง 41 รายการ เช่น เงินสด จำนวน 497,100 บาท พร้อมสมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 6 เล่ม, บัตรกดเงินสด (ATM) จำนวน 8 ใบ, โทรศัพท์มือถือจำนวน 4 เครื่อง และซิมการ์ดโทรศัพท์มือถืออีกหลาย 10 อัน

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า ปัจจุบันยังมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ไปแอบอ้างเป็นดีเอสไอ หรือ ปปง.หลอกลวงว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญาต่างๆ แล้วหลอกให้เหยื่อโอนเงิน ล่าสุด มีผู้เสียหายใน จ.ชลบุรี เข้าร้องทุกข์ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกให้โอนเงินจำนวน 1.3 ล้านบาท ดีเอสไอจึงเร่งสอบสวนสะกดรอยจนพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนร้ายใน จ.สงขลา และติดตามจับกุมตัวได้ ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อ ในทุกครั้งที่ได้รับการติดต่อจากคอลเซ็นเตอร์ขอให้ตั้งสติและฉุกคิดว่าระบบราชการจะไม่ติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์ และจะไม่ให้ประชาชนถอนเงินออกจากบัญชีตัวเองเพื่อโอนเข้าบัญชีอื่น

พ.ต.ท.วิชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม มีกลุ่มคนร้ายได้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ หลอกให้ผู้เสียหายในพื้นที่ จ.ชลบุรี โอนเงิน 1.3 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอได้ข้อมูลจากกรณีดังกล่าวจึงได้จึงเร่งสืบสวนจนพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนร้ายใน จ.สงขลา เกี่ยวพันกับการฉ้อโกงประชาชน 8 คดี ได้เงินไปกว่า 5 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ได้เข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวมาเลเซีย 1 ขณะกำลังกดเงินสดออกจากตู้กดเงินสดอัตโนมัติ (ATM) ได้ที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ ตำบลด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เกือบ 5 แสนบาท และขยายผลควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนได้อีก 1 คน โดยใช้รูปแบบการเปิดเซิร์ฟเวอร์ใช้โทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือวีโอไอพี หลอกลวงผู้เสียหาย โดยโทรศัพท์ในระบบวีโอไอพีสามารถกำหนดหมายเลขโทรเข้าให้เป็นเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยราชการใดก็ได้ ทั้งนี้จากการซักถามเบื้องต้นทราบว่าชาวไทยเกี่ยวข้องร่วมขบวนการอีกมาก ซึ่งพบว่าชาวมาเลเซียจะเข้ามามีภรรยาคนไทยแล้วให้ภรรยาไปชักชวนเพื่อนบ้านหรือเพื่อนร่วมงานให้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร ได้ค่าจ้าง 1,000-5,000 บาท แล้วก็ให้เป็นบัญชีเงินฝาก เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และได้ส่งข้อมูลให้กับทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอดำเนินการแล้วจากนั้น จะมีสายเจ้าหน้าที่ดีเอสไอโทรศัพท์เข้ามา พูดจาหว่านล้อมจนหลงเชื่อโอนเงินให้คนร้าย และหลอกโอนเงินครั้งละ 100,000 บาท

ด้านนายมานพกล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.ที่ผ่านมา ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงไปยังประชาชนว่ามีพัสดุไปรษณีย์ตกค้างและสั่งให้โอนเงินกลับมาแพร่ระบาดอย่างหนัก มีผู้ถูกหลอกลวง 2,109 ราย ไปรษณีย์ยืนยันมาตลอดว่าไม่มีนโยบายให้โอนเงินมาเพื่อขอรับพัสดุ ในกรณีที่จัดส่งพัสดุไม่ได้จะออกใบแจ้งให้มาติดต่อรับพัสดุ หรือในกรณีที่ต้องเรียกเก็บเงินค่าไปรษณีย์ด่วนพิเศษก็จะมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ

Advertisment

ด้านผู้เสียหายรายหนึ่งเปิดเผยว่า ตนถูกหลอกลวงว่ามีชื่อส่งพัสดุบรรจุยาเสพติดจาก จ.เชียงรายไปให้คนร้ายในภาคใต้ โดยดีเอสไอจับกุมคนร้ายแล้วขยายผลมาถึงตน จากนั้นได้พูดหว่านล้อมจนหลงเชื่อให้ถอนเงินจากบัญชีโอนไปยังบัญชีอื่น เพื่อรอการตรวจสอบ ตนจึงทำตามโอนไป 1 บัญชี จากนั้น คนร้ายได้สั่งให้ถอนเงินอีก 1 บัญชี แต่ตนไหวตัวทันว่าอาจถูกหลอกลวง เพราะเงินที่โอนไปบัญชีแรกยังไม่ได้โอนคืนกลับมา จึงรีบเข้าร้องทุกข์ให้ดีเอสไอตรวจสอบ ดังนั้น จึงขอฝากเตือนไปยังประชาชนไม่ให้หลงเชื่อ โดยมีข้อสังเกต 2 จุด คือ หน่วยราชการจะไม่ติดต่อประชาชนผ่านโทรศัพท์ และการ สนทนาผ่านโทรศัพท์แบบพูดหว่านล้อมหรือข่มขู่ไม่หยุด เป็นการทำให้เสียสมาธิ ขอให้สันนิษฐานว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์