เครือข่ายผู้บริโภคแฉ “ตู้น้ำหยอดเหรียญ” ไร้มาตรฐาน-มีเชื้อโรค จี้ กทม.ตรวจสอบทั่วกรุง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 เมษายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิผู้บริโภค พร้อมด้วย น.ส.มลฤดี โพธิ์อินท์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำสมาชิกเครือข่ายร่วม 20 คน เข้ายื่นหนังสือ เรื่อง ขอให้ตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี นางสิริกาญจน์ สุยวณิชย์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯ กทม.รับหนังสือแทน

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง จึงเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.ดำเนินการ 1.สั่งการให้ 50 สำนักงานเขต บังคับใช้กฎหมาย โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มยอดเหรียญ เพราะเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 2.ทั้ง 50 สำนักงานเขต ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ติดตั้งแล้วในเขตกรุงเทพฯ ว่า มีใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ หากไม่มีใบอนุญาตต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่มีสามารถติดต่อหาเจ้าของได้ ให้ดำเนินการรื้อถอนตู้ดังกล่าวทันที 3.ขอให้จัดทำสติ๊กเกอร์วันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรอง วันเดือนปีที่ตรวจคุณภาพน้ำ โดยมีการบันทึกทุกครั้ง เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบ และ 4.ขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

นางมลฤดี กล่าวว่า จากข้อมูลวิจัยเมื่อปี 2558 โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กทม.สำรวจพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ มีการขออนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,117 ราย ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง 92 ราย ไม่มีใบอนุญาต 1,025 ราย โดยจากการสุ่มสำรวจ 855 ตู้ ใน 18 เขต พบว่าสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มยอดเหรียญไม่เหมาะสม โดยอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีฝุ่นมาก ร้อยละ 76.3 ใกล้ริมถนน ทางเท้า หรือ ใกล้แหล่งระบายน้ำเสียและน้ำขัง ร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้พื้นที่ทิ้งขยะ ทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน ร้อยละ 22 เป็นต้น ไม่ระบุวันเดือนปีเปลี่ยนไส้กรองน้ำใหม่ ร้อยละ 93 และไม่ระบุวันเดือนปีที่มีการตรวจสอบล่าสุด ร้อยละ 94 นอกจากนี้ ในปี 2560 เครือข่ายฯ ได้สุ่มตรวจสอบในพื้นที่ 50 เขต ยังพบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเครือข่ายพยายามส่งข้อมูลและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ยังคงไม่ได้รับความร่วมมือ

จากนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร กทม.ว่า สำหรับการตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กทม.ต้องเป็นติดตามและตรวจสอบ ทั้งนี้ จะมอบหมายให้ 50 สำนักงานเขต ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเร่งด่วนและรายงานมายังผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อนำข้อมูลมาหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเรื่องน้ำดื่มไม่สะอาดทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง ส่วนบทลงโทษกำหนดอย่างไรบ้างนั้นจะขอศึกษารายละเอียดอีกครั้ง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์