อัพเดตกรรมการพิซซ่า 2 ถาด “เศรษฐา-ชัชชาติ” ขับเคลื่อนกรุงเทพไร้รอยต่อ

เศรษฐา-ชัชชาติ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 “เศรษฐาทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร

ถ้ายังจำกันได้ คณะกรรมการชุดนี้เองที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำเสนอคอนเซ็ปต์ว่า องค์ประกอบควรมีกรรมการจำนวนไม่เกินพิซซ่า 2 ถาด ความหมายคือ เป็นชุดทำงานที่กระชับ กรรมการไม่ต้องเยอะ เน้นคุณภาพเป็นหลัก นำมาสู่รายชื่อคณะทำงานมีเพียง 7 คน ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2.รมว.มหาดไทย 3.รมว.คมนาคม 4.เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 5.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 6.ผู้ว่าฯ กทม. และ 7.ปลัด กทม.

ร่วมปั้นกรุงเทพเมืองน่าอยู่

ล่าสุด เป็นเวลา 5 เดือนนิด ๆ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา บุกถิ่นผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้าอีกครั้ง เพื่ออัพเดตการทำงานชุด 7 อรหันต์ ที่ออกแบบภายใต้โมเดล Executive Committee ในภาคเอกชน เป็นคณะเล็ก ๆ มีความคล่องตัว ตัดสินใจเร็ว ทำงานเร็ว

โดยนายกฯเศรษฐาเปิดประเด็นทิศทางการพัฒนาในอนาคตของ กทม. ที่อยากเห็น เป็นการพัฒนาในหลายมิติ ทั้งเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย การจราจร ฝุ่นจิ๋ว-PM 2.5 ความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรม จุดมุ่งหมายในการพัฒนาคือ ทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่

ดึงเทคโนโลยีแก้ปัญหาจราจร

สรุปผลรายงานประชุมวันที่ 23 กุมภาพันธ์ มี 2 กลุ่มประเด็น 1.การจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.การจัดการด้านสังคมและเศรษฐกิจ ดังนี้

เริ่มจาก “ปัญหาจุดฝืดและวินัยจราจร” ส่วนหนึ่งเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจร อาทิ จอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถฝ่าไฟแดง รถรับจ้างสาธารณะ-รถแท็กซี่-ตุ๊กตุ๊กจอดกีดขวางป้ายรถเมล์

แนวทางการแก้ไข 1.นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้บังคับกฎหมาย อาทิ ระบบกล้องวงจรปิดหรือ CCTV ตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมายได้ ใช้ข้อมูล input จาก GPS รถตรวจสอบการจอดรถผิดกฎหมาย ส่งให้ตำรวจออกใบสั่ง ถ้าไม่จ่ายค่าปรับนำส่งข้อมูลให้กรมการขนส่งทางบก ห้ามต่อทะเบียนรถ 2.กทม.ร่วมบังคับจราจร ลดภาระงานตำรวจ ถ่ายโอนภารกิจจราจรบางส่วนให้ท้องถิ่น

“ปัญหาด้านกายภาพ” จากไซต์ก่อสร้างสาธารณูปโภค ส่งผลต่อพื้นผิวถนน เกิดจราจรคอขวด สร้างปัญหาการเดินทางของประชาชน

แนวทางแก้ไข 1.ประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการให้ก่อสร้างในเวลาที่เหมาะสม วางแนวทางคืนผิวจราจรเร็วที่สุด ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งผลคืบหน้าการก่อสร้างและเส้นทางเลี่ยง 2.ขยายช่องจราจร ปรับปรุงพื้นผิวบริเวณคอขวดลดปัญหาวงเลี้ยวหรือทางแคบ

“การปรับปรุงการควบคุมจราจร” อาทิ จังหวะสัญญาณไฟที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณจราจร

แนวทางแก้ไข 1.ปรับรอบสัญญาณไฟให้มีความเหมาะสมในแต่ละจุด นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว 2.ใช้เทคโนโลยี ITMS (Intelligent Traffic Management System) ควบคุมสัญญาณไฟตามสภาพจราจรและปัญหาที่เกิดขึ้น ใช้สัญญาณไฟแบบ Adaptive Signaling ติดตามการจราจรในแต่ละช่วงเวลา

ปัญหาใกล้ตัว “ขนส่ง-ฝุ่นจิ๋ว”

“การพัฒนาขนส่งสาธารณะ” ปัญหายังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ขาดการเชื่อมโยงข้อมูล

แนวทางแก้ไข 1.เพิ่มโครงข่ายรถโดยสารสาธารณะ ปรับเส้นทางเดินรถประจำทางในพื้นที่เมืองขยายตัว
2.จัดทำโครงการ First and Last Mile ปรับปรุงทางเท้า สนับสนุน Bike Sharing 3.ใช้แอปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้รถ เปิดเผยข้อมูลรถสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น 4.ปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสาร ป้ายรถเมล์อัพเดตตลอดเวลา

“การแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว-PM 2.5” ปี 2564-2566 ฝุ่น PM 2.5 เริ่มสูงขึ้นบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ มีปริมาณฝุ่นจิ๋วเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ซึ่งกรุงเทพฯ ได้รับอิทธิพลจากอากาศนิ่งและปิด เอื้อต่อการสะสมฝุ่นจิ๋ว บวกกับแหล่งกำเนิดฝุ่นจิ๋ว การใช้ถนน และการเผาในที่โล่ง โดย กทม.ตรวจวัด 70 สถานี พบว่าปี 2567 ตั้งแต่ 1 มกราคมเป็นต้นมา ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงตรวจวัดได้ 19.8-91.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดย กทม. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง

จับ-ปรับรถบริการไม่เป็นธรรม

“การแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ รถสามล้อ มัคคุเทศก์ผี” ข้อมูลสำรวจของสำนักงานเขต และข้อมูลร้องเรียนของตำรวจท่องเที่ยว และศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน (โทร.1584) กรมการขนส่งทางบก ได้รับร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและผู้ใช้รถสาธารณะเกี่ยวกับการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม อาทิ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว ไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกัน

โดยพื้นที่ร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ 1.หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน แพลทินัม ไอคอนสยาม มาบุญครอง เอสพลานาด ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 2.บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง 3.บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสาร เช่น จตุจักร (หมอชิต) เอกมัย ถนนบรมราชชนนี (ตลิ่งชัน) 4.สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดพระแก้ว สนามหลวง ย่านทองหล่อ อโศก ซอยนานา

แนวทางแก้ไขปัญหา กทม.ได้รับความร่วมมือจากตำรวจท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่จับกุมผู้กระทำความผิดในย่านท่องเที่ยวหลัก ประสานข้อมูลดำเนินการร่วมกัน จัดทำแผนปฏิบัติงาน ส่งชุดตรวจการลงพื้นที่ บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นจริงจัง ตัดคะแนนความประพฤติโชเฟอร์ พักใช้-เพิกถอนใบอนุญาตขับรถเพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ขับรถ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

เข้มหาบเร่แผงลอย-บุหรี่ไฟฟ้า

“การนำพื้นที่ราชการพัฒนาเป็นพื้นที่ทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย” หาบเร่แผงลอยเป็นแหล่งอาหารราคาประหยัด สถิติมีผู้ค้า 20,012 ราย อยู่ในจุดผ่อนผัน 86 จุด 5,419 ราย, จุดทบทวน 9 จุด 629 ราย, นอกจุดผ่อนผัน 621 จุด 13,964 ราย, มีพื้นที่ราชการหลายแห่งใกล้ชุมชน มีศักยภาพพัฒนาเป็น Hawker center ลานกีฬา สวนสาธารณะ กทม.ร่วมมือกับ รฟม.บริเวณหน้าห้างยูเนี่ยนมอลล์ จัดหาพื้นที่ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น

“การป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า” ปัจจุบัน ประชากรไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน แบ่งเป็นชาย 71,456 คน สัดส่วน 90.8%, หญิง 7,256 คน 9.2% เด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี 24,050 คน สัดส่วน 30.5% โดยกรุงเทพฯ มีประชากรสูบบุหรี่ไฟฟ้า 47,753 คน สัดส่วน 60.7% ของประเทศไทย

แนวทางแก้ไขปัญหา ปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในรัศมี 200 เมตร จากสถานศึกษาสังกัด กทม. ต้องไม่มีการจำหน่ายเด็ดขาด สื่อสารสาธารณะถึงโทษพิษภัยและอันตราย สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน