“นามยง” ฟ้อง กทม.เรียกค่าเสียหาย 1,040 ล้านบาท บังคับชำระหนี้ค่าภาระ

“นามยง” ฟ้องกทม.เรียกค่าเสียหาย 1,040 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% หลังกทม.ยื่นเอกสารขอรับรถทั้ง 139 คัน แสดงเจตจำนงค์ขอรับสินค้าจากบริษัท ถือว่ามีสิทธิ์ชำระภาระต่างๆ ได้

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นคดีแพ่งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หมายเลขคดีดำที่ กค. 137/2560 ขอให้ กทม.ชำระเงินค่าภาระยกขนสินค้าขาเข้า ยกขนสินค้าเพิ่มเติมและค่าภาระฝากสินค้า เป็นค่าเก็บรักษาสินค้า ที่ไม่ได้นำออกนอกเขตศุลกากร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,040.81 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีของต้นเงิน 972.72 ล้านบาท นับจากวันฟ้องจนกว่าการชำระหนี้จะแล้วเสร็จ พร้อมชำระค่าฝากรถวันละ 272,817 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะนำรถดับเพลิงทั้งหมดออกจากท่าเรือ ด้วย

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กทม.ได้ทำสัญญาซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์กับบริษัท สไตเออร์-เดมเลอร์-พุค สเปเชียล ฟาห์รซอย เอจี แอนด์ โค เคอี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2547 โดยผู้ขายได้ส่งมอบรถดับเพลิง 67 คันและรถบรรทุกน้ำ 72 คัน ผ่านเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือสินค้ากอง เอ5 ที่อยู่ภายใต้บริหารจัดการของบริษัท แต่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรเพื่อขอรับสินค้าไป บริษัทจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าและระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ให้ชำระหนี้ฐานผิดสัญญา เป็นเงินรวม 530.37 ล้านบาท เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ กค. 108/2555 และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 18 มีนาคม 2556 เป็นคดีแดงหมายเลขที่ กค.34/2556 เนื่องจากเห็นว่าคดีขาดอายุความแล้ว

ต่อมาบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา และเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลเห็นว่า กทม.แม้จะเป็นผู้ซื้อ แต่ยังไม่ได้ติดต่อขอรับเอกสารที่เกี่ยวกับการขนส่งและดำเนินการพิธีการศุลกากร เพื่อขอรับสินค้าไปทั้งหมดจากบริษัท ดังนั้นเมื่อยังไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ เพื่อขอรับสินค้าที่บริษัทเก็บรักษาไว้ กทม.จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระฝากสินค้าเข้าตามที่บริษัทเรียกร้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ 2 ปีแล้ว เพราะไม่ได้ทำให้ผลเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 กทม.ได้ขอนำรถดับเพลิงทั้งหมด 139 คัน ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยอ้างว่าเป็นยุทธภัณฑ์ จึงได้รับการยกเว้นอากรตามกฎหมาย โดยได้ดำเนินการพิธีการศุลกากรและนำสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแนบรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มมาแสดงด้วย จึงแสดงถึงเจตจำนงค์ที่สมบูรณ์ในการขอรับรถดับเพลิงทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ กทม.จึงมีหน้าที่ชำระ ค่าภาระต่างๆ ก่อน จึงจะสามารถนำรถออกไปจากท่าเรือได้ แต่กลับเพิกเฉยหลายครั้ง แม้จะได้รับหนังสือทวงถามจากฝ่ายกฎหมายของบริษัทก็ตาม

Advertisment

“บริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิเรียกร้องของบริษัทที่มีต่อ กทม.ยังมีอยู่เต็มจำนวนและยังไม่ขาดอายุความ ประกอบกับเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงใหม่ที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย จึงได้ยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลอีกครั้งหนึ่ง เพราะบริษัทไม่มีหนทางอื่นที่จะบังคับให้กทม.ชำระหนี้ค่าภาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้”