จีไอที เดินหน้าปั้นช่างอัญมณีรุ่นใหม่เข้าอุตสาหกรรม หวังดึงมูลค่าแตะ 1 แสนล้าน

สถาบันอัญมณีฯ หรือจีไอที เดินหน้าปั้นช่างฝีมือรุ่นใหม่ เข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย หวังดึงมูลค่าการค้า-การส่งออกให้แตะ 100,000 ล้านบาทอย่างในอดีต ปัจจุบันส่งออก 3 เดือนแรกมูลค่า 4,115.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.28%

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2567 ได้ตั้งเป้าหมายการเติบไม่ต่ำกว่า 5-10% จากปี 2566 ที่ทำได้มูลค่า 14,636 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2567 การส่งออกทำได้แล้วมูลค่า 4,115.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.28%

ทั้งนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วน 5.80% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,513.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13.36%

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย
สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ปัจจุบันพบว่าแม้ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเกือบ 100,000 ล้านบาท เคยมีแรงงานในอุตสาหกรรมทั้งระบบนับล้านคน แต่ขณะนี้เหลือเพียงประมาณ 800,000 คน และในจำนวนนี้ 80% จะเป็นกลุ่มผู้ซื้อ ผู้ขายเป็นส่วนใหญ่ จะมีเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นช่างฝีมือ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องผลักดันให้คนรุ่นใหม่สนใจเข้าทำงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น

โดยเฉพาะช่างฝีมือทักษะสูง เพื่อให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับยังเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ทั้งการสร้างรายได้และการสร้างงานของประเทศ

Advertisment

ทั้งนี้ จีไอทีมีแผนที่จะประสานกับกระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างมาตรฐานกลางด้านอัญมณี และเมื่อผู้เข้าอบรวมผ่านหลักสูตร จะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น เป็นนักอัญมณี นักวิเคราะห์อัญมณี หรือผู้จัดการร้านทอง รวมถึงการสร้างศูนย์ฝึกช่าง และร่วมกับสถาบันการศึกษา พัฒนาหลักสูตรเฉพาะในการสร้างนักอัญมณี

รวมทั้งจะจัดทำโครงการออกแบบเครื่องประดับระดับโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับใหม่ ๆ และสร้างแรงกระตุ้นให้เยาวชน และนักออกแบบไทย ได้แลกเปลี่ยนเทรนด์เครื่องประดับกับนักออกแบบต่างชาติ

ขณะเดียวกันจะลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพช่างฝีมือในระดับภูมิภาค ซึ่งในปีนี้มีเป้าหมายที่ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยจะจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ช่างฝีมือ เน้นการนำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ โดยชูซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาเป็นชิ้นงานอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า และนำไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะงานบางกอกเจมส์ ที่ได้รับการตอบรับจากทั่วโลก เพื่อให้สามารถสร้างการรับรู้ไปถึงผู้ซื้อในต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการขาย

นอกจากนี้ มีแผนเดินหน้ายกระดับมาตรฐานการตรวจรับรองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้ GIT Standard โดยจีไอทีในฐานะตัวแทนประเทศไทย และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศไม่แสวงหาผลกำไรที่เป็นผู้นำสร้างมาตรฐานการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทานที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ RJC (Responsible Jewellery Council) และคาดว่าภายใน 2 ปี จะมีการใช้มาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับในส่วนนี้ หากไทยมีมาตรฐาน ก็จะสามารถอยู่ในซัพพลายเชนอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้ และจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืน

Advertisment