กทม.เร่งป้องกันไข้เลือดออกระบาด “หนองจอก-บางกะปิ-ดินแดง” ตายแล้ว 3 ราย

โควิดไม่ติดทางยุง

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ห่วงใยสุขภาพอนามัยประชาชนสอดคล้องกับนโยบาย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม-3 กรกฎาคม 2561 พบมีผู้ป่วยสะสม จำนวน 3,701 ราย คิดเป็นอัตราป่วยสะสม 65.13 รายต่อประชากรแสนคน เมื่อเทียบกับอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศ พบ กทม.อยู่ในลำดับที่ 30 ซึ่งปัจจุบันพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ในเขตหนองจอก ดินแดง และบางกะปิ จึงให้ทุกหน่วยงานบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ขณะเดียวกัน สำนักอนามัยจะเร่งรณรงค์ในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในเดือนสิงหาคมนี้

นพ.ชวินทร์กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ประกอบด้วย 1.การควบคุมโรค โดยจัดทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงดำเนินการสวบสวนการระบาดเมื่อพบผู้ป่วย รวมถึงสำรวจ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน และพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยในรัศมี 100 เมตร รอบบ้านผู้ป่วย ภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในวันที่ 3,7,14,21,28 นับจากวันแรกที่เข้าควบคุมโรค 2.การเฝ้าระวังไข้เลือดออก สำนักอนามัยได้ติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด ตรวจจับการระบาดของโรคในพื้นที่และแจ้งเตือน มีการสำรวจ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ในพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ได้แก่ ย่านชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานพยาบาลและสวนสาธารณะ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขดำเนินการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนสถานการณ์ และ 3.การขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ดำเนินการตามหลัก “3 เก็บ 5 ป.” คือ เก็บบ้านให้เรียบร้อย เก็บขยะ กำจัดภาชนะที่อาจมีน้ำขัง เก็บน้ำ กำจัดแหล่งน้ำไม่ใช้ประโยชน์

ด้าน นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กล่าวว่า พบผู้เสียชีวิตรายแรกจากไข้เลือดออกในเขตหนองจอก ส่วนรายที่ 2 พบในพื้นที่เขตดินแดง และรายที่ 3 พบในเขตบางกะปิ โดยผู้ป่วยเสียชีวิตไล่เลี่ยกันเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุโรคไข้เลือดออกระบาดมากในช่วงนี้เพราะมีฝนตกชุก เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขณะที่ประชาชนอาจจะชะล่าใจในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ฉะนั้น จึงแนะนำให้ประชาชนป้องกันอย่าให้ยุงกัด โดยการสวมใส่เสื้อผ้าอย่างมิดชิด ทาครีมหรือพ่นสเปรย์ไล่ยุง จุดยากันยุง ฉีดสเปรย์ฆ่ายุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามหลัก 3 เก็บ ทั้งนี้ หากมีอาการสำคัญเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอย หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เกิน 3 วัน รวมถึงมีอาการเหนื่อยหน้ามืด ใจสั่น เลือดกำเดาออกให้รีบแพทย์ทันที

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์