อธิบดีราชทัณฑ์แจงใช้ระบบ อี-บิดดิ้ง จัดซื้ออาหารนักโทษ ลดข้อครหาเอื้อประโยชน์บางราย

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่กรมราชทัณฑ์ นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวการจัดซื้ออาหารดิบสำหรับปรุงอาหารให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ว่าจากการดำเนินงานด้านการจัดหาอาหารดิบที่ผ่านมาทุกปีของกรมราชทัณฑ์ พบว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบมาโดยตลอด เช่น การเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ การไม่เปิดกว้างให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งในข้อเท็จจริง กรมราชทัณฑ์ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบรายใดทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในการรับซื้อผลผลิต เพื่อเป็นการพยุงราคาสินค้าเกษตรของประชาชน

นายกอบเกียรติกล่าวว่า ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 กรมราชทัณฑ์ จึงจัดให้มีการจัดซื้อ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีสิทธิในการยื่นประมูล ซึ่งเริ่มสั่งการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2560 และคาดหวังว่า สิ่งที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการในครั้งนี้ จะเป็นการกระทำที่โปร่งใส เป็นธรรม และเปิดกว้าง

นายกอบเกียรติ ยังระบุว่า ตามระเบียบวิธีการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ จะซื้ออาหารจากหน่วยงาน 4 ราย องค์การตลาด (อต.) กระทรวงมหาดไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) โดยแต่ละปีต้องซื้ออย่างน้อย 3 หน่วย แต่ก็มีเรื่องครหานินทา มากมายว่า เราเอื้อประโยชน์ให้คนนั้นคนนี้ ดังนั้นกรมราชทัณฑ์จึงต้องการลดข้อครหา และทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง) ก็เสนอให้มีการใช้ระบบอี บิดดิ้ง โดยทางรัฐบาลได้มีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขังผ่านระบบ อีบิดดิ้ง ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็รับมาดำเนินการ ซึ่งสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก็คือในวันที่1 ต.ค. ปีนี้ หน่ายงานหรือบริษัทที่ชนะการประมูล ก็ต้องส่งอาหารให้เรือนจำได้ทันที ดังนั้นกระบวนการขั้นตอนประกวดราคา และลงนามในสัญญาต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน

“กรมราชทัณฑ์ ทำตามที่หลายคนเรียกร้องไม่ใช่เหรอที่ต้องการความโปร่งใสที่ผ่านมาก็กล่าวหาว่าเราปิดกั้น มีคนอยากค้าขายด้วยก็ไม่เปิดกว้าง รอบนี้นี้เปิดมันให้หมด ใครอยากเข้ามาประมูลก็มาซื้อซอง แบบนี้ก็แฟร์ดี” นายกอบเกียรติกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการใช้ระบบอีบิดดิ้ง จะทำให้ราคาถูกลงหรือไม่ นายกอบเกียรติกล่าวว่า อันนี้ไม่มีใครตอบได้ เพราะมันคือการแข่งขันราคา แต่ผู้ประกอบการต้องเกร็งราคาให้ดีเพราะราคาที่ยื่นซองประมูลมันจะต้องใช้ไปจนถึงปีงบประมาณหน้า หรือกันยายนปี 2561 เพราะราคาตลาดมีขึ้นมีลง ถ้าประเมินไม่ดีก็ต้องขาดทุน อันนั้นเป็นเรื่องของหน่วยงานหรือบริษัทที่เข้ามาแข่งขัน

Advertisment

 

ที่มา : มติชนออนไลน์