ถอดรหัส พ.ร.บ.ยาใหม่ ทำไป เพื่อใคร?

เป็นประเด็นทุกครั้งสำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มักถูกทักท้วงจนสะดุด และไม่สามารถแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ได้ จนกลายเป็นต้องใช้กฎหมายเก่าแก่จนถึง 51 ปี

นับตั้งแต่ปี 2557 เหมือนจะมีความหวังที่สุดที่จะได้กฎหมายฉบับใหม่ ก็กลับต้องสะดุด เพราะประเด็นหลักใหญ่ หนีไม่พ้นเรื่อง วิชาชีพŽ โดยเฉพาะกลุ่มเภสัชกรออกมาคัดค้านว่า กฎหมายเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยา จนนำไปสู่การพิจารณาแล้วพิจารณาอีก

ล่าสุดแม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการประชาพิจารณ์และนำร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับปรับปรุงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทางเลขาธิการ ครม.ได้นำขึ้นสู่เว็บไซต์เพื่อสอบถามความคิดเห็นอีกครั้ง ปรากฏว่ายังมีเห็นต่างในประเด็นที่เคยค้านกันมาก่อน จึงนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนนำไปสู่การแถลงข่าวของ อย.ในช่วงที่ผ่านมา

แน่นอนว่า แม้ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงชัดว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้มีการประชุมชี้แจงประเด็นต่างๆ ไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อรวบรวมประเด็นต่างๆ แล้วพบว่า ร้อยละ 90 ของเนื้อหาหรือมาตราต่างๆ ทั้งหมดในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เห็นด้วย มีเพียงไม่เห็นด้วยในเนื้อหาทั้งหมดร้อยละ 10 แน่นอนว่าเป็นประเด็นข้อห่วงใยเรื่องการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยา ก็ยืนยันว่าไม่มี และเพื่อให้ข้อกฎหมายอื่นๆ เดินต่อไปได้ จึงขอให้มีการเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.ต่อไป ส่วนประเด็นค้านก็จะแนบไปกับร่างกฎหมาย และเสนอตั้งคณะกรรมการ ขึ้น แน่นอนว่า กว่าจะประกาศใช้ยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีก

แม้จะมีการยืนยันดังกล่าว แต่ดูเหมือนเรื่องจะลุกลามไม่หยุด โดยเฉพาะประเด็นวิชาชีพ ทั้งส่วนของเภสัชกรห่วงว่าคนไม่ได้เรียนมาตรงจุด จะสามารถจ่ายยาได้มากน้อยแค่ไหน และประชาชนจะมีความเสี่ยงหรือไม่

ขณะที่กลุ่มพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพที่อยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้องจ่ายยาตามคำสั่งแพทย์มาตลอด เนื่องจากข้อจำกัดไม่มีเภสัชกรประจำใน รพ.สต. เพราะปัญหาขาดกรอบอัตรากำลัง ก็ออกมาชี้แจงว่าตามกฎหมายวิชาชีพได้กำหนดว่า หากต้องการเรียนเฉพาะทางก็สามารถเรียนด้านการปรุงยา จัดยาตามหลักสูตร

แต่ที่ผ่านมามีภาระงานมาก ไม่ได้ต้องการทำหน้าที่แทนเภสัชกร จึงเรียกร้องให้เภสัชกรมาทำงานที่ รพ.สต. แทน

กลายเป็นเสียงแตกกันอีก ล่าสุดเภสัชกรต้องออกมาพูดทำนองว่า ไม่ได้ต่อว่า รพ.สต. แต่แค่เป็นห่วงว่าหากกฎหมายเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยา จะทำให้ประชาชนเสี่ยง หนำซ้ำยังมีข้อห่วงใยจากนักวิชาการว่าอาจเป็นการเอื้อให้ร้านสะดวกซื้อขายยาได้หรือไม่ จน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าไม่มีการเอื้อให้นายทุน การปรับแก้กฎหมายใดๆ เพื่อประโยชน์ประชาชนทั้งสิ้น

ลองมาดูกันดีกว่าว่าประเด็นปัญหาอยู่ที่ตรงไหน…

มาตราที่เป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการคัดค้านครั้งนี้ อยู่ในหมวด 2 ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย ยาแผนทางเลือก ในส่วนที่ 1 การขออนุญาตและการอนุญาต มาตราที่ว่าคือ มาตรา 22(5) ระบุว่า การจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หรือการจ่ายยาที่การแบ่งจ่ายตาม (4) ในกรณี ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ใช้ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายของตน หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ใช้สำหรับสัตว์ที่ตนป้องกันหรือบำบัดโรค หรือการจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

สำหรับข้อห่วงใยคือ การระบุว่าการจ่ายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทำให้กังวลว่ากฎกระทรวงจะออกมาในรูปแบบใด และมีการเปิดช่องให้กับวิชาชีพใดบ้าง องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมกังวลว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการใช้ยาหรือไม่

ประเด็นนี้ อย.แจงว่า ไม่ได้เปิดช่อง แต่เป็นการเขียนเพื่อให้สามารถไปพิจารณาหารือในอนาคต เนื่องจากทุกวันนี้มีพยาบาลทำงานจ่ายยาใน รพ.สต.อยู่แล้ว ทำภายใต้วิชาชีพแพทย์ แต่ไม่มีกฎหมายมาดูแลโดยตรง จึงอยากให้มีกฎหมายมารองรับ

แต่เมื่อยังมีข้อเห็นต่างก็จะแนบไว้ในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับปรับปรุง และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบกับมาตราอื่นๆ ที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะประเด็นต่อใบอนุญาตการขึ้นทะเบียนยา เพราะทุกวันนี้ไม่มีการต่อทะเบียน ให้ตลอดชีพ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการใช้ยาไม่มีคุณภาพ ต้องรอมีผลข้างเคียงก่อนจึงจะดำเนินการตามขั้นตอนถอนใบอนุญาต

แต่กฎหมายใหม่ให้ต่อทุก 7 ปี

ประเด็นต่อมา มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดียมากว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจต้องการให้เอื้อนายทุนอย่างร้านสะดวกซื้อ ให้เปิดร้านขายยาได้ง่ายขึ้นหรือไม่

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ย้ำว่า ไม่จริง เพราะร่างกฎหมายไม่ได้ระบุเช่นนั้น ที่สำคัญการเปิดร้านขายยา ตามกฎหมายเดิมระบุว่าต้องมีขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญ ต้องมีเภสัชกรประจำร้านขายยา ไม่มีไม่ได้

ในหมวด 2 ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย ยาแผนทางเลือก ในส่วนที่ 1 การขออนุญาตและการอนุญาต มีหลายมาตราระบุขั้นตอนการขออนุญาตและการอนุญาตไว้มากมาย และเชื่อมไปกับกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 ระบุว่าการเปิดร้านขายยาต้องมีเภสัชกร และมีรายละเอียดต่างๆ

แต่ทางเภสัชกรเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็ทยอยออกมาคัดค้านเพราะไม่ไว้ใจอย่างถ้วนหน้า และล่าสุดยังมีการเปิดเผยผลการเปรียบเทียบถึงหลักสูตรการเรียนด้านเภสัชฯ ของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอีก

แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า สำหรับปี 2557 ก็เป็นช่วงของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่ก็เกิดประเด็นข้อห่วงใยว่าถูกต้องหรือไม่ที่ให้วิชาชีพอื่นมาจ่ายยา แม้จะมีหลักสูตรการเรียนการสอนเภสัชฯ แต่จำนวนหลักสูตรกับการเรียนก็ยังแตกต่างจากเภสัชกร โดยสภาเภสัชกรรม ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำเอกสารเพื่อสร้างความเข้าใจในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา เสนอประเด็นหลักที่ต้องแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเดือนธันวาคม 2557 เป็นช่วงที่มีการโต้แย้งถึงเรื่องนี้ และมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน เข้ามาพิจารณาควบคู่

สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับยาตามหลักสูตรของวิชาชีพต่างๆ ผ่านเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฯ ระบุว่า วิชาชีพเภสัชกรมีวิชาบังคับเรียน ทั้งกลุ่มวิชาด้านผลิตภัณฑ์ และกลุ่มวิชาด้านผู้ป่วย จำนวน 130 หน่วยกิต

วิชาชีพแพทย์ กลุ่มวิชาบังคับจำนวน 186 หน่วยกิต ทันตแพทย์ มีกลุ่มวิชาชีพทางทันตกรรมที่ต้องเรียน 187 หน่วยกิต

กลุ่มพยาบาล มีกลุ่มพื้นฐานวิชาชีพจำนวน 25 หน่วยกิต และกลุ่มวิชาชีพ 78 หน่วยกิต รวมเรียนทั้ง 2 กลุ่มเป็น 103 หน่วยกิต

ขณะที่สัตวแพทย์มีเรียนกลุ่มพื้นฐานวิชาชีพ 69 หน่วยกิต และกลุ่มวิชาชีพ 118 หน่วยกิต รวมเรียน 2 กลุ่ม 187 หน่วยกิต เป็นต้น

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่หากเป็นอย่างที่เลขาธิการ อย.ยืนยัน รองนายกฯ บิ๊กฉัตร และนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศชัดว่า รัฐบาลไม่ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อนายทุน เพื่อร้านสะดวกซื้อ แต่เพื่อประชาชนทุกคน

เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายยังไม่ได้ประกาศใช้ ยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เพราะแม้ผ่าน ครม.เห็นชอบหลักการจริงๆ ก็ยังต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากสุดท้ายไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อประชาชนคัดค้าน รัฐก็ต้องฟังเสียง แต่หากประชาชนได้ประโยชน์ก็ควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จริงหรือไม่…

 

ที่มา : มติชนออนไลน์