คุก “เณรคำ” พรากผู้เยาว์-อนาจาร16ปี อ่วม! ศาลชี้พฤติการณ์ร้ายแรงนับโทษต่อคดีเดิม คุก36ปี

เมื่อช่วงเช้าที่ศาลอาญา วันที่ 17 ตุลาคม ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้เบิกตัว นายวิรพล สุขผล อายุ 39 ปี หรืออดีตพระวิรพล ฉีตติโก หรืออดีตหลวงปู่เณรคำ อดีตประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ จากเรือนจำกลางคลองเปรมมาฟังคำพิพากษาในคดีกระทำอนาจาร หมายเลขดำ อ.2340/60 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277,317

กรณีช่วงระหว่างเดือน ม.ค.43 – กลางปี 44 จำเลยได้พรากเด็กหญิงวัย 13 ปีเศษไปจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรานาน 2 ปี จนมีบุตรด้วยกัน 1 คน

เหตุเกิด ต.โพธิ์ ต.หนองแก้ว อ.เมือง และ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ต.แสนสุข ต.ห้วยยาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เกี่ยวเบิกพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธ

โดยศาลพิเคราะห์คำเบิกความคู่ความทั้งสองเเล้วเห็นว่าผู้เสียหายเบิกความถึงพฤติการณ์สอดคล้องเป็นลำดับเรียงเหตุการณ์ สามารถเข้าชี้ที่เกิดเหตุต่อหน้าสื่อมวลชน ซึ่งหากไม่ใช่เรื่องจริงคงไม่สามารถปั้นสรรเเต่งเรื่องขึ้นมากล่าวหาจำเลยได้ทัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวหากมึการเผยเเพร่ไปย่อมเป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียง อีกทั้งยังมีพยานโจทก์เบิกความถึงการโอนเงินผ่านคนกลางที่จำเลยส่งเป็นรายเดือนไปให้ผู้เสียหาย ซึ่งคนกลางดังกล่าวนั้นไม่มีเหตใดที่จะต้องโอนเงินให้ผู้เสียหายการที่จำเลยอ้างว่าให้เงินคนกลาง เนื่องจากสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เเละอำนวยความสะดวกฟังไม่ขึ้น อีกทั้งยังมีหลักเป็นบุหรี่ซิก้าร์ที่จำเลยดูดเมื่อนำไปตรวจหาสารทางวิทยาศาสตร์เเละพบว่าผลตรวจทางวิทยาศาสตร์ระบุถึงสารพันธุกรรมที่เข้ากันระหว่าง จำเลย ผู้เสียหายเเละบุตรผู้เสียหาย

ในชั้นพิจารณาจำเลยนั้นให้การปฏิเสธที่จะตรวจดีเอนเอ โดยที่ไม่มีเหตุอันควรซึ่งหากจำเลยไม่มีความผิดย่อมไม่มีเหตุที่จะปฏิเสธ พยานหลักฐานทั้งโจทก์จำเลยรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่ากระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งขณะนั้นอายุไม่ถึงอายุไม่ถึง 15 อยู่ภายใต้การปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีศักดิ์เป็นยายจริง การกระทำจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคเเรก, 317 วรรค 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษจำเลยฐานผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 8 ปี เเละฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ให้ลงโทษจำคุก 8 ปี รวมลงโทษทั้งสิ้น 16 ปี

โดยศาลยังเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยใช้ความเชื่อจากศรัทธามาใช้ประกอบการกระทำผิดส่งผลให้ศาสนามัวหมอง เป็นเรื่องร้ายเเรง จึงให้นับโทษคดีนี้ต่อจากคดีในศาลอาญาที่จำเลยต้องคำพิพากษาในคดีฉ้อโกง, ฟอกเงิน ที่ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไว้สูงสุด 20 ปี ด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์