“หมอธีระวัฒน์” ย้ำไม่เคยค้านปลดล็อกกัญชา แต่ท้วงติงให้กฎหมายช่วยผู้ป่วยเข้าถึงมากที่สุด

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงการปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ภายหลังประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ว่าขณะนี้สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือกรณีที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้รับข้อมูลที่มีกรมการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบในข้อมูลต่างๆ ได้แก่ 1.ในกรรมการที่ดูข้อบ่งใช้ไม่ได้มีการนำหลักฐานประโยชน์และผลข้างเคียงของหลายภาคส่วน ทั้ง จุฬาฯ ม.เกษตรศาสตร์ ม.รังสิต และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เข้าไป แต่ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณา โดยใช้กัญชาเป็นเรื่องของยาเสพติดอย่างเดียว ซึ่งนำมาสู่ข้อมูลในทางลบที่เป็นเรื่องของยาเสพติดที่จะต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดแบบมอร์ฟีน 2.ทาง อย.กำหนดมาตรฐานซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดโดยละเลยและไม่สนใจสารสกัดกัญชา ที่ อภ.ได้ทำการศึกษาจนรู้สารออกฤทธิ์และความเข้มข้น ซึ่งหากมีการใช้ก็ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว โดยค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากผ่อนผันให้นำสารสกัดกัญชามาใช้ได้ก็จะมีปัญหา เพราะข้อบ่งใช้จะจำกัดอยู่แค่ 4 ประเด็นทำให้มีผู้ป่วยใช้ได้น้อย โดยในการครอบครองพืชกัญชา กระท่อม สารสกัดกัญชาไม่ว่าจะแบบหยามหรือเข้ากับมาตรฐาน เช่น น้ำมันกัญชา ก็ยังมีโทษเหมือนเป็นยาเสพติดประเภทร้ายแรง ทำให้มองได้ว่าขณะนี้เรามองแต่ว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ทั้งนี้ทราบดีแล้วว่ากัญชาไม่ได้ติดรุนแรงอย่างที่คิด และในการเสพติดเป็นเรื่องของรหัสพันธุกรรม หากเสพติดจริงในสารสกัดกัญชาอีกตัว ก็สามารถที่จะแก้ไขลักษณะการการติดที่ต้องใช้ตลอดเวลาได้ ทั้งนี้สำหรับในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ นั้นเป็นสิ่งที่น่าวิตกมาก เนื่องจากข้อมูลที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะได้รับจากคณะกรรมการยาเสพติด และอย. ซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้มงวดเหมือนการใช้มอร์ฟีนและจะทำให้ไม่มีใครอยากใช้ ดังนั้นผลที่ได้รับคือกัญชาจะลงได้ใต้ดินหมด

“อาจจะมีข้อดี คือ ไม่ต้องสนใจว่ากฎหมายจะเป็นอย่างไร แต่ผู้ป่วยจะไปควบคุมและเอื้อเฟื้อกันเอง โดยในกลุ่มผู้ป่วยก็ทราบราคาสารสกัดกัญชา THC ซึ่งมีฤทธิ์ในการกล่อมประสาทสูง และ CBD ที่ราคาไม่สูงมาก สามารถใช้ได้ตามข้อบ่งชี้หรือข้อบ่งใช้ตั้งแต่ อาการปวด เช่น ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดทรมานจากเส้นประสาทในเรื่องอาการเกร็งจากโรคทางระบบประสาทแปรปรวน โรคลมชัก รวมถึงการรักษาโรคมะเร็งที่อาจควบรวมกับยาแผนปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หรืออาจได้รับประโยชน์ถึงขั้นควบคุมไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายได้ โรคพาร์กินสัน ที่มีข้อมูลชัดเจนว่าสามารถคุมอาการได้ดีและหยุดยาแผนปัจจุบันได้ ใช้ในเด็กออทิสติก และผู้ที่มีอาการทางจิตที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีเท่าๆ กับยาควบคุมโรคจิต แต่กัญชาดีกว่าคือมีผลแทรกซ้อนน้อยมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยได้รับผลกระทบหรือเสียโอกาส อย.และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ต้องรับผิดชอบ ในผลที่เกิดขึ้น รวมถึงอาจมีผู้ป่วยที่ถูกจับจากการที่นำกัญชาไปใช้รักษาโรคที่ไม่เป็นไปตาม 4 กลุ่มโรคก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนต้องร่วมกันผลักดันให้มีการปลดล็อกกัญชา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า ตนไม่ได้ค้านการปลดล็อกกัญชา ตนสนับสนุน แต่อยากให้มีการปลดล็อกที่ครอบคลุมข้อมูลที่เป็นไปได้จริงๆ จะมีประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ จะเริ่มในวันที่ 9 พฤศจิกายนตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นต้นไป ที่สำนักงานคณะกรรมกาอาหารและยา (อย.)

Advertisment

 

ที่มา : มติชนออนไลน์