ทส.ย้ำห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ ดีเดย์ 4 ธ.ค.61 “วันงดแจกถุงพลาสติก” ทั่วปท.

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศว่า หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วน เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ ทั้งนี้คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ที่มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ ทส. เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯ มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกอย่างต่อเนื่อง จำนวน 4 ครั้ง มีข้อสรุปสำคัญคือ 1.ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ 2.ยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นรายการตามที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า มีความจำเป็นต้องใช้และมีระยะเวลาใช้งานยาวนาน และรายการตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอ 3.สินค้าที่ใช้แล้วอื่นๆ มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพิจารณาแหตุผลความจำเป็นในการนำเข้าสินค้าใช้แล้วอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกด้าน 4.อนุญาตให้นำเข้าเศษโลหะ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องคัดแยกมาแล้ว สะอาด และไม่มีผสมชนิดกัน รวมทั้งต้องมีใบรับรองจากประเทศต้นทาง และให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISRI

นายประลอง กล่าวว่า 5.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี (2562- 2563)โดยมีเงื่อนไข คือ ปีที่ 1 กำหนดโควต้านำเข้าไม่เกิน 7 หมื่นตัน (PET 5 หมื่นตัน และอื่นๆ2 หมื่นตัน) มีเงื่อนไขให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ30 ปีที่ 2 นำเข้าไม่เกิน 4 หมื่นตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เงื่อนไขการนำเข้าเศษพลาสติก ต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อน มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร (ซม.) รวมทั้งมอบหมายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดตั้งโรงงาน การขออนุญาตนำเข้า การนำเข้า การขนส่ง การประกอบกิจการ การนำไปใช้ประโยชน์ การกำจัดเศษซากส่วนเกิน

นายประลอง กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นคณะอนุกรรมการฯ ยังมอบหมายให้ วท. และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กำหนดแนวทางการจัดการขยะปนเปื้อนกัมมันตรังสีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยประสานกับกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับรังสีให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ให้ครบถ้วน พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์ ให้ครอบคลุมทุกประเภทและทุกขนาด ส่วนกรณีตู้บรรทุกสินค้าที่นำเข้ามาแล้ว ประมาณ 2,000 ตู้ มอบหมายให้กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม พิจารณาตรวจสอบทุกตู้ หากพบการปนเปื้อน การสำแดงเท็จ การลักลอบนำเข้า ให้ผลักดันกลับประเทศต้นทาง

อธิบดี คพ. กล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการฯ โดย ทส.ได้นำเสนอรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้กำหนดให้มีการรายงานผลให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นไปตามเงื่อนไขของระเบียบ กฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายประลอง กล่าวว่า นอกจากนี้ ทส.โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกฯ(ภายใต้ กก.วล.) ที่มีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธาน ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นทิศทางการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ระยะ 20 ปี โดยมีแผนงาน 1.ส่งเสริมการนำขยะพลาสติกภายในประเทศกลับเข้าสู่ระบบการนำกลับมาใช้ประโยชน์ (Circular Economy) เพิ่มขึ้น โดยใช้มาตรการแรงจูงใจการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ประกอบการ (Retailer) ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.เร่งดำเนินการในพื้นที่นำร่อง เพื่อคัดแยก รวบรวม และนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 3.รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักและมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลาสติก โดยกำหนด วันที่ 4 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เป็น “วันงดแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศ” 4.พัฒนากฎหมายเพื่อให้มีกลไกทางด้านเศรษฐศาสตร์ในการจัดการขยะพลาสติก ตาม พ.ร.บส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

“กรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้ามาในประเทศ ที่ผ่านมา จะได้รับการแก้ไขปัญหาและการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยมีการรวบรวมและเรียกคืนเข้าสู่ระบบการจัดการได้ ตามมาตรการ แนวทางที่ได้กำหนดไว้ ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบริหาร กรม จังหวัด และระดับปฏิบัติ รวมถึงภาคเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการ ก็จะทำให้ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและจะเป็นไปตามกลไกการหมุนเวียนของขยะดังกล่าวที่เป็นจริง รวมถึงจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชนจากการคัดแยกขยะ และมีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและผลกระทบ ต่อสุขภาพของผู้คัดแยกและประชาชน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสำคัญที่สุด คือ ประเทศไทยจะหยุดการเป็นถังขยะโลกที่รองรับขยะจากต่างประเทศต่อไปในอีก 2 ปี” อธิบดี คพ. กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์