ผู้ว่าฯ กทม. สั่ง 50 เขต แจ้งผู้สมัคร ส.ส. ย้ายป้ายหาเสียงกีดขวางทางเท้า

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหาร กทม. เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 กรณีการอนุญาตให้ใช้สถานที่หาเสียงเลือกตั้งและการปิดประกาศป้ายหาเสียงผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 30 เขตเลือกตั้ง ว่าสำนักงานปกครองและทะเบียนได้จัดทำประกาศกรุงเทพมหานครกำหนดสถานที่ปราศรัย หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดสถานที่ปราศรัยหาเสียงเช่นการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 15 แห่ง แบ่งเป็น ฝั่งพระนคร 10 แห่ง และฝั่งธนบุรี 5 แห่ง ได้แก่ 1.ลานคนเมือง เขตพระนคร 2.สวนจตุจักร เขตจตุจักร 3.สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร 4.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร 5.สวนลุมพินี เขตปทุมวัน 6.อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย 7.สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม 8.สวนพระนคร เขตลาดกระบัง 9. สวนสุขภาพ เขตประเวศ 10.สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน 11.สวนพระราม 8 เขตบางพลัด 12.สวนสาธารณะหน้าเดอะมอลล์บางแค เขตบางแค 13.วงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี 14.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ 15.ศูนย์เยาวชนสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) เขตราษฎร์บูรณะ ทั้งนี้ หากสำนักงานเขตมีพื้นที่ที่เหมาะสมเพิ่มเติมให้แจ้งสำนักงานปกครองและทะเบียน เพื่อเตรียมออกประกาศกำหนดสถานที่ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งเพิ่มต่อไป

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวต่อว่า ส่วนการปิดป้ายเสียงของผู้สมัคร ส.ส.นั้น กทม.ขอให้ผู้สมัครดำเนินการตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ซึ่งได้ออกกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 30 เขตแล้ว ส่วนขนาดของแผ่นป้ายต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร (ซม.) และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 ซม.

“โดยในที่ประชุมได้มอบหมายให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องแจ้งไปยังผู้อำนวยการเขต โดยกำชับให้ฝ่ายเทศกิจและฝ่ายโยธาออกตรวจตราป้ายที่ติดตั้งบนทางเท้าและกีดขวางทางจราจรของประชาชนและผู้ใช้ทางเท้าสัญจรอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามประกาศ กกต.กทม. หากป้ายหาเสียงใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามประกาศ ขอให้แจ้งไปยังผู้สมัคร ส.ส.ให้ดำเนินการแก้ไขหรือปลดออกตามระยะเวลากำหนด ก่อนแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งการติดตั้งป้ายหาเสียงในแต่ละพื้นที่จะต้องได้รับอนุญาตและพิจารณาจากสำนักงานเขตนั้นๆ เพื่อให้การติดตั้งป้ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเท่าเทียมกัน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

สำหรับวิธีการติดแผ่นป้ายต้องคำถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดีไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชน หรือต่อยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ หรือประชาชน และจะต้องไม่กีดขวางทางสัญจร การจราจรและต้องไม่ติดทับซ้อนกับป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมืองอื่น หรือนอกบริเวณที่กำหนด โดยให้ติดเฉพาะจุดที่กำหนด กรณีกำหนดเป็นถนนให้หมายความรวมถึงซอยที่แยกจากถนนด้วย

ทั้งนี้ ห้ามมิให้ติดบนผิวจราจร เกาะกลางถนน บริเวณปากซอย สะพานลอยคนเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม ส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพง หรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร ตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ป้อมตำรวจ สุขาสาธารณะ สนามหลวง สวนหย่อม สวนสาธารณะ วงเวียนทุกวงเวียน ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ถนนโ​ดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนิน กรณีที่มีผู้ดำเนินการไม่ถูกต้องหรือขอบเขตตามประกาศกำหนด ให้หัวหน้าหน่วยงานมีคำสั่งให้แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการแก้ไขตามเวลาดังกล่าว คณะกรรมการมีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออก หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการโดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น และคณะกรรมการอาจนำมาเป็นเหตุในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดได้

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์