“โฆษกศาล” เผย 4 วัน ผู้ถูกตัดสิทธิสมัครส.ส.เขต-รายชื่อ ร้องศาลฎีกา 184 เรื่อง

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล  โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึง การยื่นคำร้องวินิจฉัยคดีเลือกตั้งว่า เฉพาะในวันที่ 19 ก.พ.นี้ ได้รับข้อมูลรายงานจำนวนคดีเลือกตั้งที่มีผู้ร้องยื่นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิสมัคร ส.ส.จนถึงเวลา 16.30 น. รวม 24 เรื่อง เป็นคดี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 3 เรื่อง และคดี ส.ส.แบบแบ่งเขต 21 เรื่อง

โดยหลังจาก กกต.ประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ผู้ลงสมัครที่ กกต.ไม่ได้ประกาศรับรองรายชื่อสมัครจากการถูกวินิจฉัยขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ไม่รับสมัคร หรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ซึ่งหลังจาก กกต.ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ก็จะครบกำหนดการยื่นให้ศาลฎีกาวินิจฉัยภายในวันศุกร์ที่ 22 ก.พ.นี้

“นายสุริยัณห์” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การรับคำร้องของศาล ได้ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เริ่มมีการยื่นคำร้องผ่านมายังศาลชั้นต้นทั่วประเทศเพื่อส่งต่อให้แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาที่มีอำนาจวินิจฉัยเพียงศาลเดียวนั้น รับเรื่องพิจารณาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยช่วงเสาร์-อาทิตย์ 16-17 ก.พ.มีคดียื่นเข้ามารวม 23 เรื่อง และเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ก.พ. มียื่นเข้ามาอีก 137 เรื่อง (เป็นคดีเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญรายชื่อ 7 เรื่อง และแบบแบ่งเขต 130 เรื่อง) โดยรวมตั้งแต่วันที่ 16-19 ก.พ.จำนวนคดีเลือกตั้ง ส.ส.เข้าสู่แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกามี 184 เรื่อง ซึ่งระหว่างนี้องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาจะทยอยวินิจฉัยมูลคดีที่มีการร้องขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งในแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตต่อไป

ขณะที่ในวันที่ 14 และ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังมีคดีการยื่นคำร้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.อีก 2 เรื่องด้วย ซึ่งพิจารณาเสร็จไปแล้ว 1 เรื่อง คงเหลืออีก 1 เรื่องที่เป็นประเด็นการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ซึ่งเฉพาะคดีเลือกตั้งเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.นั้นนับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน มีคดียื่นคำร้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลทั้งสิ้น 29 คดี

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์