การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ 4 เมษายน 2562

สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ประจำวันที่ 4 เมษยน 2562 ณ เวลา 09.00 น. ค่าฝุ่นละอองในหลายพื้นที่ มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดยมีค่า PM2.5 และ PM10 ดังนี้

– ค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 38 – 151 มลก./ลบ.ม. (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)
– ค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 55 – 193 มลก./ลบ.ม. (มาตรฐานไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.)

ทั้งนี้สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th และแอพลิเคชั่น air4thai

จังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก ได้ดำเนินการเพิ่มให้ความชุ่มชื้น และลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ จังหวัดเชียงใหม่ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า บริเวณประตูท่าแพ และบริเวณสนามบินเชียงใหม่

จังหวัดตาก

– ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรับฟังนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เรื่อง การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานในการประชุม พร้อมทั้ง VTC ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดตาก

– หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปกครองในพื้นที่จังหวัดตาก ได้ดำเนินการฉีดน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศอันเนื่องจากไฟป่าและหมอกควันในหลายพื้นที่ของจังหวัดตาก อาทิเช่น อำเภอแม่ระมาด อำเภอบ้านตาก

– ศูนย์บัญชาการหมอกควันและไฟป่าจังหวัดตาก จัดรถดับเพลิงทำการฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยได้รับการสนับสนุนรถน้ำดับเพลิงจากเทศบาลนครแม่สอด เทศบาลตำบลท่าสายลวด และศูนย์ ปภ.เขต 9 พิษณุโลก

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

– เจ้าหน้าที่หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าสบเมย ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าและพัฒนาป่าไม้แม่สะเรียง (แม่อุมลอง) ออกตรวจลาดตระเวนไฟป่าในเขตพื้นที่ อ.แม่สะเรียง โดยตรวจพบไฟป่าบริเวณป่าบ้านสบหาร หมู่ที่ 4 ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จึงได้ดับไฟจนเรียบร้อย พบพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณ 5 ไร่ พื้นที่เกิดไฟป่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย

– ชุดปฏิบัติการพิเศษควบคุมไฟป่า (เหยี่ยวไฟ) ปฏิบัติงานดับไฟบริเวณป่าบ้านแม่สุริน หมู่ที่ 3 ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตป่าป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สุริน พบพื้นที่เสียหายประมาณ 20 ไร่ และทำการดับไฟบริเวณป่าหัวน้ำแม่สะกึ๊ด ท้องที่ หมู่ที่ 10 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้าย พบพื้นที่เสียหายประมาณ 10 ไร่ และร่วมกับหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน มอบเสื้อไฟป่ากรมป่าไม้ให้กับหมู่บ้านที่เข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า ประจำปีงบประมาณ 2562 ต้องที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

– ชุดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอำเภอขุนยวม (จนท.หน่วยส่งเสริมฯ แม่ลาน้อย ปกครอง อ.แม่ลาน้อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเวียงหล้า) ออกตรวจลาดตระเวนในเขตท้องที่บ้านประตูเมือง ต.แม่เงา บ้านแม่สะเป่ ต.ขุนยวม พบไฟกำลังลุกไหม้บริเวณทางหลวงชนบท สายขุนยวม – แม่สะเป่ หลักกม.ที่ 47-48 ทางไปบ้านแม่สะเป่ฯ จึงรีบทำการดับไฟและสามารถควบคุมไฟไว้ได้ พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณแบบเต็ง-รังเสียหายประมาณ 25 ไร่ ในท้องที่ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เงาและป่าแม่สำเพ็ง สาเหตุเบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัด

– เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ปฏิบัติงานดับไฟป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย โดยหน่วยพิทักษ์ป่าแม่นาเติง และหน่วยพิทักษ์ป่า ชั่วคราวป่ายาง สนธิกำลังร่วมเจ้าหน้าที่สถานที่ควบคุมไฟป่าลุ่มน้ำปาย และเจ้าหน้าที่ไฟป่าเขาค้อ จ.เพรชบูรณ์ ออกลาดตระเวนและดับไฟป่า บริเวณป่ายะโป๋และป่านาป่าอ้อ หมู่ที่ 4 ต.แม่นาเติง อ.ปาย ตามข้อมูลจุด Hotspots ที่ได้รับแจ้ง พบพื้นที่เสียหาย 35 ไร่ และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย โดยหน่วยพิทักษ์ป่าปางหมู ออกลาดตระเวนและดับไฟป่าบริเวณป่าป่าดอยหัวกวาง หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองจังหวัด พบพื้นที่เสียหาย 30 ไร่

จังหวัดแพร่

– สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดแพร่ จัดประชุมติดตามสถานการณ์และหารือแนวทางแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานการประชุม โดยมีข้อสั่งการให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่าและหมอกควันระดับอำเภอ ดำเนินการทุกมาตรการอย่างเข้มข้น ทบทวนการดำเนินการ ร่วมบูรณาการดับไฟป่ากับเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสับเปลี่ยนการเข้าไปพักแรมในพื้นที่ป่าเพื่อลาดตระเวนป้องปรามผู้เข้าไปในพื้นที่ป่า ทั้งนี้ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ ได้สนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับหน่วยปฏิบัติงานดับไฟในพื้นที่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป

– จังหวัดแพร่โดยการประสานงานของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและเพิ่มความชื้นในอากาศครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอเป็นประจำทุกวัน โดยได้รับการสนับสนุนรถหุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และได้รับการสนับสนุนรถน้ำดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองแพร่ กองพันทหารม้าที่ 12 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่งร่วมปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดลำพูน

– ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดลำพูน (War Room) ระดับจังหวัด ได้จัดประชุมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ในฐานะ ผอ.รมน.จังหวัดลำพูน เป็นประธาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการนำนโยบายจากนายกรัฐมนตรี และข้อสั่งการเพิ่มเติมจากแม่ทัพภาคที่ 3 มาขยายผลให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการลดมลพิษหมอกควันและไฟป่า โดยได้เน้นย้ำให้ทุกอำเภอดำเนินการ ในเรื่องการลดจุดฮอตสปอตหรือจุดความร้อนโดยทันทีและเร่งด่วน และให้เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายเรื่องไฟป่าอย่างจริงจัง และประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับทราบทั่วถึงกัน

– อำเภอบ้านธิออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ ณ หอประชุมหมู่ 4 ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ โดยให้ความรู้เรื่องสุขศึกษาในกลุ่มผู้มารับบริการ โดยเน้นอันตรายจากฝุ่นจิ๋ว และวิธีการป้องกันตนเอง และดำเนินการแจกผ้าปิดจมูกให้กับผู้มารับบริการทุกราย

จังหวัดเชียงราย

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมชี้แจงการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ที่ห้องธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมีพลตรี สัชฌาการ คุณยศยิ่ง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 และว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียวราย พร้อมด้วย รอง ผอ.รมน.จังหวัดเชียงรายฝ่ายทหาร หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือ เพื่อกระชับการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามแนวทางที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการเป็นนโยบายในการปฏิบัติการให้แก่จังหวัดในภาคเหนือทั้ง 9 จังหวัด โดยจังหวัดเชียงราย ได้รับนโยบายจากที่ประชุมมากำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิผลของปฏิบัติการจากการเกิดจุด hotspot ให้ลดลงและหมดไปในที่สุดภายใน 7 วัน มีการ zoning แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ด้วยการผนึกกำลังร่วมกัน 4 ฝ่าย พลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชนจิตอาสา โดยจัดกำลังตั้งเป็นชุดปฏิบัติการจิตอาสาจำนวน 36 ชุด ชุดละ 12 นาย ประกอบกำลังพลจากทุกหน่วยงาน รวมทั้ง มทบ.37 ร.17 พัน 3 ป.พัน 17 นพค.35 และ ฉก.ม.2 กระจายบทบาทให้ผู้นำท้องที่ทุกระดับให้เข้ามาร่วมปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการเฝ้าระวังหลังดับไฟไม่ให้มีการจุดซ้ำ จัดกำลังลาดตระเวนเฝ้าระวัง เพื่อให้ร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุการเกิด โดยยึดตำบลให้เป็นจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับส่งกำลังบำรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงชุดปฏิบัติการให้ฝังตัวในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่เกิดไฟ พื้นที่เกิดไฟซ้ำซาก ให้การปฏิบัติเป็นการระงับยับยั้งสาธารณภัยไม่ให้เกิดภัยและผลกระทบแก่ประชาชนและสภาพแวดล้อม ตรวจเฝ้าระวังควันจากไอเสียรถยนต์ ปล่องควันจากโรงงานอุตสาหกรรม 107 แห่ง ประสานใช้อากาศยานกดดันผู้ก่อไฟ รณรงค์ให้ความรู้ป้องกันสุขภาพ เตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ใช้การประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่ อีกทั้ง จะมีการประเมินสถานการณ์และรายงานผลให้หน่วยเหนือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบทุกระยะเป็นประจำทุกวัน

จังหวัดพะเยา

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาพร้อมด้วย นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 34 ปลัดจังหวัด รองผอ.รมน.จว. หน.ปภ.จว. ผอ.ทสจ. หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายอำเภอ ร่วมประชุมปรับแผนการทำงานแก้ไขวิกฤตไฟป่าหมอกควันของจังหวัดพะเยา โดยกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการที่มีเกณฑ์การเสี่ยงสูงของตำบล อำเภอ จังหวัด โดยทุกภาคส่วนมีนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยของจังหวัด ร่วมกำหนดระบบพื้นที่ปฏิบัติการที่มีเกณฑ์การเสี่ยงไฟไหม้ป่า จัดกำลังผสมสนธิร่วมกันระหว่างประชาชนจิตอาสา ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ เป็นชุดปฏิบัติการ (ชป.) เข้าประจำพื้นที่เพื่อทำการป้องกันพื้นที่ไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าและทำการลาดตระเวนบันทึกข้อมูลพื้นที่ รายงานผลการปฏิบัติและเพื่อเตรียมใช้วางแผนในการแก้ไขพื้นที่เสี่ยงและเพื่อใช้ในระยะยาวต่อไป

จังหวัดน่าน

– สถานีควบคุมไฟป่านันทบุรี ออกตรวจสอบการเกิดจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบบริเวณป่าต้นน้ำห้วยช้าง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาว – น้ำสวด ในเขตอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ท้องที่ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณเสียหาย 28 ไร่ ร่วมกับสถานีพัฒนาการเกษตรฯ บ้านสบขุ่น และ อส.อำเภอท่าวังผา ปฏิบัติการดับไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว-น้ำสวด อุทยานแห่งชาตินันทบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ท้องที่บ้านสบขุ่น ตำบลป่าคา อำเภอท่าวัง จังหวัดน่าน พบพื้นที่ป่า เบญจพรรณเสียหาย 25 ไร่ และปฏิบัติการดับไฟป่าบริเวณป่าตันน้ำงาว ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว-น้ำสวด อุทยานแห่งชาตินันทบุรี ท้องที่บ้านดอยติ้ว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณเสียหาย 12 ไร่

– หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าน่าน ปฏิบัติการดับไฟป่าบริเวณสองข้างทางถนนสายน่าน-ท่าวังผา กม.ที่ 4-5 ได้ขอรับการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำจาก อบต.ผาสิงห์ อบจ.น่าน กรมทางหลวงชนบท และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สถานีฯ ปฏิบัติการดับไฟป่าในเขตป่าสงวนเเห่งชาติป่าน้ำยาวเเละป่าน้ำสวด ท้องที่บ้านวังว้า ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน พบพื้นที่ป่าเสียหาย 50 ไร่

– กรมทหารพรานที่ 32 ปฏิบัติการดับไฟป่าบริเวณหน่วยสามารถเข้าดับไฟได้แค่บางส่วน เพราะเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ และเขาสูงชันหน่วยไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ พบพื้นที่เสียหายประมาณ 15 ไร่ ขณะรายงานยังไม่จบภารกิจ และยังคงเฝ้าระวังไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

– หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปกครองในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการฉีดน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศอันเนื่องจากไฟป่าและหมอกควัน ในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่าน อาทิเช่น อำเภอเมืองน่าน อำเภอเชียงกลาง อำเภอนาหมื่น อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสันติสุข และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ

จังหวัดลำปาง

– จังหวัดลำปางได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ องค์กรภาคเอกชน ณ ศูนย์รวบรวมข้อมูลและสั่งการ (War Room) ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง เพื่อนำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยให้ทุกอำเภอประเมินพื้นที่เสี่ยงกำรเกิดไฟป่าของแต่ละอำเภอ และแจ้งในที่ประชุม

– สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ได้จัดทำแผนปฏิบัตการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศจังหวัดลำปางทุกวันในพื้นที่เขตเมือง เช่น ข่วงนคร ท่าอากาศยานลำปาง สถานที่ที่มีการจัดงานรื่นเริง ศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง โดยมีหน่วยงานร่วมบูรณาการ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลนครลำปาง เทศบาลเมืองเขลางค์นคร และเทศบาลตำบลพิชัย) มณฑลทหารบกที่ 32 ลำปาง ร้อย รฝศ.ที่ 3 ศูนย์ปภ.เขต 10 ลำปาง ท่าอากาศยานลำปาง และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

– สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งในจังหวัดลำปางดำเนินงานเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากภาวะหมอกควัน โดยให้ความรู้การปฏิบัติตน การดูแลตนเองผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น Line Facebook เว็บไซต์และลงพื้นที่รณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่ชุมชน และแจกหน้ากากอนามัยแก่กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนชรา สตรี ผู้มีโรคประจำตัว (ระบบทางเดินหายใจ) ประชาชนทั่วไป พร้อมสาธิตการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องในพื้นที่ 13 อำเภอ และชุมชนเมือง และยังได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) จังหวัดลำปางกำหนดพื้นที่ให้ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ห้องสมุดประชาชน มิวเซี่ยมลำปาง เป็นพื้นที่สะอาด ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าไปใช้บริการได้