กรมเจ้าท่าสั่งปิด 4 ร.ร.เดินเรือลอบขายใบประกาศนียบัตร ด้านตร.ชี้สถิติคดีประมง-ค้าแรงงานประมงลด

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และพล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี(ผบช.กมค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยนายสรศักดิ์กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยกำกับดูแลและตรวจสอบตัวเรือและคนประจำเรือ ซึ่งในส่วนของตัวเรือนั้น กรมเจ้าท่าร่วมมือกับกรมประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการ ทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ในการตรวจวัดทำอัตลักษณ์เรือจนได้มาตรฐาน ขณะที่มาตรฐานคนประจำเรือนั้น ประเทศไทยมีโรงเรียนสอนหลักสูตรเดินเรือ จำนวน 8 แห่ง แต่ตร.สอบสวนพบหลักฐานว่ามีโรงเรียน 4 แห่ง ได้แก่ ร.ร.การเดินเรือเคมสตาร์ ร.ร.การเดินเรือบาร์เธอร์ ร.ร.การเรือไทย และโรงเรียนเดินเรือสากล ขายใบประกาศนียบัตรให้กับบุคคลที่ไม่ได้รับการอบรมจริง หรือเข้ารับการอบรมแต่ไม่ครบตามระยะเวลามาตรฐานของกรมเจ้าท่า ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทำการในเรือ พ.ศ.2557 ดังนั้น กรมเจ้าท่าจึงมีคำสั่งเพิกถอนใบรับรองสถานศึกษาและใบรับรองหลักสูตรอบรมการเดินเรือของร.ร.ทั้ง 4 แห่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับมาตรการจัดระเบียบเรือประมงและเรือสนับสนุนการทำประมงทุกประเภท ทั้งเรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด

ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำคดีเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ภาคประมงนั้น ตร.ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ระบบฐานข้อมูลคดีและเพิ่มประสิทธิภาพผู้บังคับใช้กฎหมายในภาคประมงซึ่งประกอบด้วยตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่กรมประมง กรมเจ้าท่า และศปมผ.จาก 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ โดยรุ่นที่ 1 ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 5-7 กันยายน ที่ผ่านมา ขณะที่การอบรมรุ่นที่ 2 จะมีขึ้นในวันที่ 19-21 กันยายนนี้ ที่จ.ชลบุรี ทั้งนี้ การจัดอบรมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเปิดตัวการใช้งานระบบฐานข้อมูลคดีที่เกี่ยวกับการประมงผิดกฎหมายและคดีค้ามนุษย์ในภาคประมง และเพื่อให้ทราบเทคนิคการดำเนินคดีดังกล่าว

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 7-8 กันยายนนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดจัดอบรมสัมมนาพนักงานอัยการ ระดับอัยการจังหวัด และอัยการผู้กลั่นกรองซึ่งปฏิบัติงานใน 22 จังหวัดชายทะเล และพนักงานอัยการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินคดีการทำประมงผิดกฎหมาย ที่กรุงเทพ โดยการอบรมเหล่านี้มีขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยในการป้องกันและปราบปรามปัญหานี้หลังจากเริ่มบังคับใช้ราชกำหนด(พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ.2558

ผบช.กมค.กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายและคดีการค้ามนุษย์ในภาคประมงนั้น ปัจจุบันมีคดีที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 4,152 คดี ซึ่งยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปร่วมกระทำผิด แต่เป็นกรณีของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ถือว่าสถิติการกระทำผิดมีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเราจะระดมการจับกุมให้มากขึ้น โดยจัดระบบเป็น 2 ส่วน คือ 1.ทีมทั่วไปที่ให้จังหวัดหรือองค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและตรวจสอบผลการจับกุมดำเนินคดี 2.การจัดตั้งชุดพิเศษเพื่อดำเนินคดีที่มีความซับซ้อนหรือเป็นคดีระหว่างประเทศ

 

Advertisment

ที่มา มติชนออนไลน์