อย่าพลาดชม!! ‘ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์’ ต้อนรับวันแม่ คาด 100 ดวง/ชั่วโมง ในคืนวันที่ 12 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 ส.ค.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page‘ ระบุ เชิญชวนประชาชนชม “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” คืนวันแม่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2562 สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มองเห็นด้วยตาเปล่าทั่วไทยในที่มืดสนิท

โดย นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. ได้ให้ข้อมูลว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี มักมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม จึงได้รับสมญาว่าเป็น “ฝนดาวตกวันแม่” สำหรับปี 2562 ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ มีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เนื่องจากคืนดังกล่าวมีแสงจันทร์รบกวน ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 04:00 น.

ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์ที่สุดคือ ตั้งแต่ตี 4 จนถึงรุ่งเช้า ผู้สนใจชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ และมองเห็นได้ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ยังมีการให้ข้อมูลว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีผลกระทบต่อโลก

อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังบอกอีกว่าการที่เกิดปรฏการณ์ฝนดาวตกในวันที่ 12-13 ส.ค. นี้ไม่ใช่สะเก็ดดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23