เส้นทาง 10 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ สช.สร้าง “สังคมสุขภาวะ” โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

เส้นทางความสำเร็จ 10 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ สช.สร้าง “สังคมสุขภาวะ” โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

​สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงานใหญ่ในโอกาสดำเนินงานครบ 1 ทศวรรษ วันที่ 19 กันยายน นี้ ระดมผู้นำความคิด มองความเปลี่ยนแปลงหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่มุ่งปฏิรูประบบสุขภาพคนไทยทั้งด้านสาธารณสุข สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวต่อไป ปรับทิศกระบวนการทำงาน บูรณาการพื้นที่ พัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สู่เป้าหมายสร้างสังคมสุขภาวะ ​งานครบรอบ 10 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) “สานพลังปัญญา สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ” จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2560 ณ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร เป็นการสะท้อนให้เห็นเส้นทางการขับเคลื่อนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และก้าวสู่อนาคต

​ไฮไลต์สำคัญ คือ การปาฐกถาพิเศษ “ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี นอกจากนั้น ยังมีเวทีเสวนา “อดีต ปัจจุบัน อนาคต บนเส้นทางสร้างนำซ่อม” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์, อ.ภารณี สวัสดิรักษ์, คุณวีรพล เจริญธรรม และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมงานเกือบ 1,000 คน ทั้งภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ครอบคลุมภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาสังคม โดย สช. ได้จัด กิจกรรมเปิดบ้านการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและนำเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ไปใช้ประโยชน์ ​ในหนังสือ “10 ปี บนทางสร้างสุข ทศวรรษการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสุขภาวะ”

ซึ่ง สช. จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษ มีการรวบรวมความคิด ความเห็น มุมมอง ของผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงสุขภาพของเมืองไทย และผลักดันการปฏิรูประบบสุขภาพ จนเกิดการเปลี่ยนแปลง ณ วันนี้ ซึ่งการดำเนินการต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย และใช้เวลาผลักดันค่อนข้างนาน เริ่มจากจัดประชุมสัมมนาระดับชาติ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า ๑,๐๐๐ เวที มีกิจกรรมให้ความรู้ด้านปฏิรูปสุขภาพ มุ่งประเด็น “สร้างนำซ่อม” สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อยกร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เปิดรับฟังความคิดเห็นปรับแก้ร่างกฎหมาย กระทั่งทุกฝ่ายยอมรับ ผ่านกระบวนการต่างๆ จนสามารถประกาศบังคับใช้ในปี 2550 สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาของผลักดันกว่า 7 ปี ​

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 นับว่าเป็น “กฎหมายล้ำยุค” ในเรื่องการมองสุขภาพที่ไม่ใช่เรื่องของแพทย์ โรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทว่าครอบคลุมในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ในเรื่องกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณด้วย เป็นกฎหมายแม่บทช่วยให้คนทั้งประเทศก้าวสู่มิติใหม่ของสุขภาพที่ความหมายกว้างไกลกว่าเดิม ​ “พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดไว้ชัดเจน ให้ทุกคนมาร่วมสร้างนโยบายของตัวเอง ให้อำนาจประชาชน ไม่ได้ให้อำนาจรัฐมากเหมือนที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับคนที่เห็นต่าง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย มาถกแถลงกัน จนในที่สุดได้เป็นมติของทุกคนร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องไม่เคยมีมาก่อน” ​

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนแรก กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยภารกิจขณะนั้นคือการวางรากฐาน โครงสร้าง ระบบงาน พัฒนาบุคลากร ทีมงาน สานพลังเครือข่าย ขยายภาคีให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ​ที่สำคัญคือจัดระบบการทำงานของ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกลไกตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ได้แก่ ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ กระบวนการสมัชชาสุขภาพทั้งระดับชาติ พื้นที่ และประเด็น การพัฒนาระบบการรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) รวมถึงพัฒนางานสิทธิ เช่น สิทธิการตายตามธรรมชาติหรือการตายดี เป็นต้น

​“การทำงานเหล่านี้ ไม่ใช่งานการแพทย์และสาธารณสุข แต่เป็นงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี (Healthy Public Policy) การที่ผมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมาสองสมัย รวม 8 ปี ได้เห็นผลสำเร็จของการสร้างความเข้าใจของสังคมได้พอสมควรว่า เรื่องสุขภาพกว้างกว่าเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน และทุกเรื่องมีผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพทั้งสิ้น ความเข้าใจเรื่องนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในสังคมไทยมีมากขึ้น สมัชชาสุขภาพก็ดี HIA ก็ดี มีการนำไปใช้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมากขึ้นเช่นเดียวกัน” ​

มาถึงยุคของ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนปัจจุบัน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เสริมว่า หลัง สช. ได้ก้าวผ่านจุดเริ่มต้นมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เหมาะสมมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับแผนงานใหม่ รวมถึงปรับวิธีทำงานจากการใช้เครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เป็นตัวตั้ง ทำให้เกิดการทำงานแบบ แนวดิ่ง มาเป็นใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง แล้วนำเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ มาหนุนเสริมให้เกิดการบูรณาการใน แนวราบ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า ระบบสุขภาพไทยพัฒนาจากกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนฐานทางปัญญา (Participatory Public Policy Process based on Wisdom: 4PW)

โดย สช. จะเป็นองค์กรทำหน้าที่ “สานพลังปัญญา สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ” ​“ผมมีเวลาแค่ 4 ปี ในการทำทุกอย่างที่คิดฝันร่วมกันให้สำเร็จลุล่วง ต่อไปนี้ สช. จะไม่มีแท่ง แต่มีหนึ่งเดียวคือพื้นที่ การทำงานก็ต้องมีการคิดค้นกระบวนการใหม่ โดยจัดให้มีศูนย์สนับสนุนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเป็นหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ และกรุงเทพฯ รวม 5 ศูนย์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำภารกิจ และดูแลงานได้ครอบคลุมมากขึ้น” ​

ขณะที่ อ.เจษฎา มิ่งสมร กรรมการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า ตลอด 10 ปี ของการทำงาน สช. ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร ทำให้คนที่ไม่เคยเข้าใจกัน หันมามองเห็นทิศทางร่วมกัน และทำให้เรื่อง นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Healthy Public Policy) ถูกเสนอจากข้างล่างขึ้นมาข้างบนได้เกือบ 100%

​“นโยบายสาธารณะที่มีการผลักดัน แม้หลายเรื่องจะยังขับเคลื่อนไปได้ไม่มาก จนกลายเป็นคำถามจากสังคมว่า ทำสำเร็จไปกี่เรื่อง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราหันมาทบทวนกระบวนการเพื่อก้าวไปสู่การปฏิบัติให้งานบรรลุผลมากขึ้น ผมคิดว่าการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นคุณูปการ เป็นทางเลือกใหม่ สร้างเมืองที่มีผู้คนที่เป็นอารยะมากขึ้น ไม่ใช่แก้ปัญหาทีละจุดๆ กระบวนการที่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ในพริบตา ยังต้องใช้แรงใช้พลังให้มติต่างๆ ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น” อ.เจษฎา ให้มุมมองทิ้งท้าย