“ผอ.กองพุทธ-นายช่างโยธา”ปฏิเสธเอี่ยวคดีเงินทอนวัด จ่อแจ้งข้อหาเจ้าคณะอำเภอโยงอดีตผอ.พศ.

พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป.

จากกรณีเจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ตรวจสอบ คดีทุจริตเงินทอนวัด (โอนเงินให้วัดแล้วเรียกรับเงินทอนคืน) โดยล็อตแรกเป็นการทุจริตงบอุดหนุนบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด 12 วัด ตั้งแต่ปี 2555-2559 ความเสียหายประมาณ 60 ล้านบาท มีผู้ต้องหา 10 ราย พร้อมส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน ตำรวจ ปปป.นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านบุคคลต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัดล็อตที่ 2 รวม 14 จุด ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ขอนแก่น ระนอง สิงห์บุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงกระบวนการทุจริตเงินทอนวัด และพบว่าเป็นการทุจริตงบประมาณอุดหนุน 3 ประเภท คือ 1.อุดหนุนบูรณะปฎิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด 2.อุดหนุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ 3.อุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา-แผนกธรรม-แผนกบาลี จำนวน 23 วัด ตั้งแต่ปี 2555-2560 ความเสียหายประมาณ 141 ล้านบาท จนมีหลักฐานความผิดถึงตัวผู้ต้องหา 19 ราย และกำลังออกหมายเรียกและออกหมายจับต่อไป

ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 กันยายน ที่ บก.ปปป. นายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผอ.กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และนายพยงค์ สีเหลือง นายช่างโยธา ชำนาญงาน พศ.เดินทางมารับทราบข้อกล่าว โดย พ.ต.อ.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบก.ปปป. ให้พนักงานสอบสอบสวนแยกกันสอบปากคำ โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพ ทั้งนี้นายฉัตรชัย ให้สัมภาษณ์ผ่านฉากกั้นว่า ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าราชการ พระชั้นผู้ใหญ่ ในการทุจริต ที่ผ่านมาตั้งแต่รับตำแหน่ง พยายามปรับเปลี่ยนระบบขององค์กรให้โปร่งใสที่สุด

ด้าน พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เปิดเผยภายหลังสอบสวนว่า เบื้องต้น ทั้งนายฉัตรชัย และนายพยงค์ ต่างปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในกระบวนการให้เงินงบประมาณวัด และเรียกรับเงินกลับคืน แต่เจ้าหน้าที่มั่นใจในพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมา โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้งคู่ ตามป.อาญา มาตรา 147 มาตรา 157 ดังนั้นจากผู้ต้องทั้งหมด 19 คน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งขอกล่าวหาไปแล้ว 5 คน ส่วนที่เหลืออีก 14 คน เป็นพระ 4 รูป อย่างไรก็ตามจะพยายามให้เจ้าหน้าที่ทำสำนวนส่ง ป.ป.ช.ภายในวันที่ 26 กันยายน เพื่อให้ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และส่งฟ้องศาล เพื่อออกหมายเรียกและหมายจับตามขั้นตอนได้

“ด้านพระ 4 รูปนั้น เท่าที่ทราบยังอยู่ในประเทศไทย โดยเราพบหลักฐานที่เชื่อมโยงถึงพระดังกล่าว ทาง บก.ปปป.ต้องดำเนินการตามหลักฐาน ไม่รู้สึกลำบากใจ หากทางพระมีลูกศิษย์จำนวนมาก เพราะเป็นไปตามพยานหลักฐาน ส่วนการดำเนินการในคดีเงินทอนวัดครั้งนี้จบ ไม่ได้หมายความว่าจะมีผู้ต้องหาแค่นี้ หลังจากนี้จะมีการสอบสวน และขยายผลเพิ่มตามพยานหลักฐาน ส่วนทรัพย์สินที่อายัดไว้เมื่อวันที่ 21 กันยายน ได้ส่งให้สำนักงาน ปปง.ดำเนินการตรวจสอบ หากเกี่ยวข้องกับคดีให้ดำเนินข้อหาตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินตามขั้นตอนต่อไป” พล.ต.ต.กมล กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ บก.ปปป.ทราบว่า พระครูรูปหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ ในฐานะเจ้าคณะอำเภอ เป็น 1 ในพระ 4 รูปที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยเจ้าหน้าที่พบพยานหลักฐานและพฤติกรรม ว่ามีการร่วมมือกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนะ อดีต ผอ.พศ. (ปัจจุบันหนีไปต่างประเทศ) และนายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผอ.กองพุทธศาสนสถาน พศ. โดยมีการให้งบบูรณะวัด 12 วัด ในภาคเหนือและภาคใต้ 19 ล้านบาท ก่อนนายนพรัตน์จะขอเงินกลับไปประมาณ 5 ล้านบาท หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับ พระครูรูปดังกล่าว หากไม่สามารถแจ้งได้ จะส่งหลักฐานให้ ป.ป.ช.ชี้มูลต่อไป

Advertisment

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ต้องหา 5 คนจาก 19 คน ที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว มีนายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. นายณรงค์เดช ชัยเนตร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) สิงห์บุรี นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี นักวิชาการ พศ.นายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผอ.กองพุทธศาสนสถาน พศ. และนายพยงค์ สีเหลือง นายช่างโยธา ชำนาญงาน พศ.

 

ที่มา : มติชนออนไลน์