ขอคลายล็อกเฟส 5 เจรจา “ศบค.” เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ 1 ก.ค.

วันที่ 21 มิ.ย. 63 ที่อาคารสำนักงานก.พ.เดิม ถนนพิษณุโลก ศบค.ชุดผ่อนคลาย นำโดยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะทำงานมาตรการผ่อนคลายในคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ศบค.ชุดเล็ก หารือผู้ประกอบการ ผับ บาร์ และคาราโอเกะ มาหารือแนวทางการผ่อนคลาย มาตรการ การเเพร่ระบาดโควิด-19

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ เน้นย้ำ ให้คำนึงถึงความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน และที่ห่วงใยคือมาตรการเยียวยาที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 เดือน และในเดือน ก.ค. ทางรัฐบาลจะพยายามผ่อนคลายให้ทุกสาขาอาชีพ สามารถประกอบอาชีพได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 2 เพราะหากมีการระบาดในรอบที่ 2 นั้นจะเป็นเรื่องที่ยากในการแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาหลักการที่ใช้ในการผ่อนคลายมีหลักอยู่ 2 ข้อใหญ่คือ 1. มีการชั่งน้ำหนักความจำเป็นของแต่ละกิจการ ความเสี่ยง ผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคม 2. เตรียมทยอยความพร้อมของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ความพร้อมของประชาชนผู้ใช้บริการ และเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ ที่กำกับดูแลกิจการนั้นๆ

สำหรับความสำเร็จในห้วงเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ย้ำอยู่เสมอว่าเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ผ่านมา และความสำเร็จในการผ่อนคลายที่ผ่านมาถือว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างมากจากทางผู้ประกอบการ ที่ทำตามมาตรการอย่างเข้มข้น และสำหรับวันนี้ได้หารือการผ่อนคลายเฟสที่ 5 ในส่วนของผับ บาร์ คาราโอะเกะ

ตัวแทนผู้ประกอบการ โดยนายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า ข้อที่ 1 ในส่วนของสถานบันเทิงต่างๆ และธุรกิจ ตนเชื่อว่าผู้ประกอบการจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่อยากให้เกิดการแพร่ระบาดอีกรอบ อยากกลับมาทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นทุกคนจะเข้มงวดกับเรื่องการป้องกันเป็นอย่างดี และหลังจากที่มีการผ่อนคลายเฟส 4 สิ่งหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการอยากจะเสนอคือ ช่วงนั้นไม่ได้มีการอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีเคอร์ฟิวอยู่ ซึ่งในความเห็นน่าจะมีการผ่อนปรนตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพราะทุกคนดื่มไม่เกิน 4 ทุ่มก็กลับบ้านได้ และขณะนั้นไม่มีใครเรียกให้พวกตนมาแสดงแนวคิด

นอกจากนี้เรื่องของธุรกิจบันเทิงจะมีการแบ่งย่อย ออกเป็นหลายๆ แบบ ไม่ใช่แค่ผับ บาร์ แต่มีบางธุรกิจที่เป็นตลาดคนไทยเอง บางธุรกิจเป็นกลุ่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บวกกับนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งส่วนของข้าวสารเองเป็นแบบนั้น โดยตนอยากให้มีการแยกแยะว่าบางธุรกิจอย่างคลับคือธุรกิจที่ต่างคนต่างไม่รู้จักมารวมตัวกัน และมายืนอยู่ใกล้กัน ซึ่งส่วนตัวมองว่ายังคงมีความเสี่ยงอยู่ แต่บางประเภท คือร้านอาหาร หรือผับ เป็นส่วนที่คนรู้จักกันอยู่แล้วมานั่งทาน นั่งดื่ม นั่งฟังเพลงด้วยกัน ดังนั้นตนมองว่าอันนี้น่าจะผ่อนปรนได้ และมาตรการในการดูแล หรือเรื่องของสาธรณสุขตนเชื่อว่าทุกคนดำเนินการอยู่แล้ว จากข้อมูลของ ศบค. ที่รายงานว่าไม่มีการติดเชื้อมา 28 วันแล้ว ซึ่งตนเชื่อมั่น

และสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือมาตรการ การช่วยเหลือจากภาครัฐว่ามีอะไรบ้าง เพราะประกันสังคมช่วยเพียง 3 เดือน หลังจากนั้นถ้ายังไม่เปิดผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการภาครัฐจะช่วยเหลืออย่างไร อยากเห็นเป็นรูปธรรม อาทิ พนักงาน นักร้อง หรือผู้ประกอบการในเรื่องของภาษี หากยังไม่มีปลดล็อกให้ จึงอยากทราบว่ารัฐจะช่วยอย่างไร แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการผ่อนคลายธุรกิจกลางคืนเพราะว่าหลายคนลำบาก บางคนไม่ได้เป็นพนักงานประจำมีงานจ้างถึงมีรายได้ เพราะตามความจริงเงินเยียวยา 5,000 บาทไม่สามารถจะเลี้ยงดูได้ แค่ค่าเช่าห้องก็ไม่พอแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ตนอยากเสนอ และรับฟังจากภาครัฐว่า ถ้าจะผ่อนคลาย จะผ่อนคลายแบบไหน จะช่วยผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง