“ศักดิ์สยาม” เปิดโผบิ๊กโปรเจ็กต์ 4 แสนล้าน บูม ”อีอีซีเชื่อมภาคใต้”

“ศักดิ์สยาม” เยือนเมืองชล ปิดจ๊อบโรดโชว์ MOT 2020: Move On Together โปรยยาหอมลงทุน เปิดโผสารพัดโปรเจ็กต์ “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” วงเงินกว่า 4.2 แสนล้าน “เร่งขยายมอเตอร์เวย์เข้าอู่ตะเภา-ไทยแลนด์ริเวียร่าเฟส 2” ลุย “ทางคู่ตะวันออก 2 เส้นทาง” รับไฮสปีด เคลียร์ผลตอบแทนสัมปทาน “แหลมฉบังเฟส 3” ให้จบ 1 เดือน ผุดศูนย์ฝึกอบรมการบินรับอานิสงค์เมืองการบินอีอีซี

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงาน MOT 2020 : Move On Together”คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤต COIVD-19″ว่า  เมื่อมาภาคตะวันออกแล้ว ต้องติดตามความคืบหน้าการลงทุนด้านคมนาคม ซึ่งมีด้วยกัน 4 มิติ ได้แก่ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนประมาณ 422,262 ล้านบาท

ทุ่มไม่อั้น”ต่อขยาย M7-ไทยแลนด์ริเวียร่า”

ในส่วนของ”ทางบก “ มีโครงการต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงมาบตาพุด – สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 4,200 ล้านบาท ของกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้

ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีโครงการถ.เลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (เฉลิมบูรพาชลทิต) ระยะที่ 2 ช่วงอ.แกลง – อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ระยะทาง 95 กม. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 นี้

เสริมโครงข่ายทางหลวงครบถ้วน

นอกจากนี้ ทล.ยังมีโครงการพัฒนาถนนเพื่อสนับสนุนนโยบายอีอีซีอีก 9 โครงการ แบ่งเป็นอยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 โครงการ วงเงินรวม 9,724 ล้านบาท ได้แก่ 1. ขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 3 ช่วงอ.บ้านฉาง – ระยอง ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 1,825 ล้านบาท

2. ขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงฉะเชิงเทรา – ต.เขาหินซ้อน ตอนอ.บางคล้า – อ.พนมสารคาม ระยะทาง 13 กม. วงเงิน 2,097 ล้านบาท 3.ขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 3 ช่วงอ.พัทยา – อ.สัตหีบ ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 2,945 ล้านบาท  4. ขยายช่องจราจรทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้รวมสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 1,038 ล้านบาท

5.ก่อสร้างสะพานข้ามแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 กับถ.เมืองใหม่เหนือและถ.นิคมแหลมฉบัง 4 วงเงิน 177 ล้านบาท 6. ก่อสร้างสะพานข้ามแยกและปรับปรุงทางแยกต่างระดับเขาไม้แก้ว วงเงิน 593 ล้านบาท

และ 7.ขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข3471 ช่วงต.บางบุตร – ต.ชุมแสง ตอนหนองพะวา -ต.ชุมแสง ระยะทาง 26 กม. วงเงิน 1,049 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 7 โครงการนี้จะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2565

อีก 2 โครงการ วงเงินรวม 2,130 ล้านบาทที่คาดว่าจะได้งบประมาณในปี 2564 ประกอบด้วย 1. ขยายช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 365 ช่วงทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านเหนือเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 5.39 กม. วงเงิน 1,150 ล้านบาท และก่อสร้างสะพานแม่น้ำในทางขนานช่วงทางเลี่ยงฉะเชิงเทราด้านใต้ วงเงิน 980 ล้านบาท

ยันส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเฟสแรก มี.ค.64

ขณะที่โครงการ”ระบบราง” ที่เด่นที่สุดคงเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามร่วมกับบจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่มซี.พี.) ไปเมื่อเดือนต.ค. 2562 คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ช่วงแรกและเคลียร์ปัญหาผู้บุกรุกอีก 40 รายได้ภายในเดือนมี.ค. 2564 นี้

ของบปี’ 65 เพิ่มทางคู่ตะวันออก

ส่วนโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่จะช่วยเติมเต็มการพัฒนาพื้นที่อีอีซีประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงิน  65,103 ล้านบาท ได้แก่ 1. รถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา – ระยอง ระยะทาง 70 กม. วงเงิน 30,454 ล้านบาท และช่วงมาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด ระยะทาง 197 กม. วงเงิน 34,649 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และของบปี 2565 เพื่อออกแบบในรายละเอียด

“นอกจากนี้ ส่วนตัวมีนโยบายให้ภาคเอกชนใช้สลอตระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการวิ่งรับส่งสินค้าจากภาคตะวันออกไปยังทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันมีการใช้รางเพียง 40% จากระบบรางที่มีทั้งหมดของประเทศ โดยจะต้องมีสถานีขนถ่ายสินค้า โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

ถก”กัลฟ์”เคลียร์ผลตอบแทนแหลมฉบังเฟส 3

ด้าน”การขนส่งทางน้ำ” โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินรวม 114,046 ล้านบาท มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นผู้รับผิดชอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาด้านผลตอบแทนกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท (PTT) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด คาดว่าใช้เวลาอีก 1 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป

ขณะที่การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ได้ให้กรมเจ้าท่า (จท.) ศึกษาความเป็นไปได้เส้นทางสัตหีบ – บางสะพาน คาดว่าในเร็วๆนี้จะสามารภดำเนินการได้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้นำร่องช่วงพัทยา – เขาตะเกียบไปแล้ว

“นอกจากนี้ ยังมีการสร้างระบบโลจิสติกส์ทางน้ำจากแหลมฉบัง – บางสะพาน โดยให้กรมเจ้าท่าศึกษาความเป็นไปได้อยู่”

ตั้งโรงเรียนการบินอู่ตะเภารับลงทุน

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ทางด้านการพัฒนาด้านอากาศ เน้นที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท  มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

โดยอยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิ เอชั่น (นำโดยบมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตตรัคชั่น) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568

“คมนาคมเตรียมแผนที่จะตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 2,715 ล้านบาท เพื่อผลิตบุคลากรรองรับการพัฒนาดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างแก้ไขและออกแบบราคากลาง”

ขายฝัน 3 โปรเจ็กต์ยักษ์

นอกจากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว “ศักดิ์สยาม”ยังบอกอีกว่า ยังมีโครงการใหญ่อีก 3 โครงการที่กำลังคิดค้นกัน นั่นคือ 1. โครงการแผนแม่บทบูรณาการมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ (MR-MAP) 9 เส้นทาง จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง ในการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าในปี 2564 จะได้เส้นทางนำร่องของโครงการนี้

ถัดมาเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ระนอง – ชุมพร เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบังออกไปสู่โลกอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

และการช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราด้วยการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน หลังจากคิกออฟไปแล้ว 6 จังหวัด ซึ่งยังมีจังหวัดที่จะไปคิกออฟต่ออีก 20 จังหวัด

โดยอยู่ระหว่างดำเนินการระยะที่ 1 ซึ่งได้รับจัดสรรงบกลางปี 2563 วงเงิน 2,700 ล้านบาท  โดยการประเมินผลความสำเร็จในระยะที่ 1 ทล ได้ประสานงานและทำ MOU กับสถาบันการศึกษาในแต่ละภาค โดยภาคเหนือ MOU ร่วมกับม.เชียงใหม่ ภาคอีสาน MOU ร่วมกับม.ขอนแก่น ภาคใต้ MOU ร่วมกับม.สงขลานครินทร์

ส่วนภาคกลาง อยู่ระหว่างพิจารณามหาวิทยาลัยที่จะลงนามร่วมกัน ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ธรรมศาสตร์ , ม.เกษตรศาสตร์ และม.บูรพา