เพื่อความปลอดภัย! กรมส่งเสริมฯย้ำเกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำตามคำแนะนำ

นายประสงค์  ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการใน 5 มาตรการ คือ 1.การสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม 2.การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน 3.มาตรการทางกฎหมาย 4.การเฝ้าระวังและสำรวจ และ 5.การสร้างสวนใหม่ทดแทนและปลูกพืชหลากหลาย

สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสาน มีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่        วิธีกล คือ ตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำเข้าทำลาย และนำมาเผา เพื่อทำลายหนอนหัวดำในระยะไข่ ระยะหนอน และระยะดักแด้  การใช้ชีววิธี คือ การปล่อยแตนเบียนบราคอนในสวนมะพร้าว เพื่อควบคุมประชากรหนอนหัวดำ โดยปล่อยหลังใช้สารเคมี 15 วัน อัตรา 200 ตัว/ไร่ และปล่อยซ้ำทุก 15 วัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 เดือน

การใช้สารเคมี แบ่งเป็น การฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าว สำหรับมะพร้าวแกงที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตรขึ้นไปเท่านั้น ห้ามใช้ในมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาล กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น และจากการตรวจสอบพิษตกค้างไม่พบสารพิษตกค้างในเนื้อและน้ำมะพร้าวทั้งในผลอ่อนและผลแก่ และการฉีดพ่นทางใบ

สำหรับมะพร้าวที่มีความสูงต่ำกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาล ทุกระดับความสูง แนะนำให้ใช้สารเคมี chlorantraniliprol 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสาร flubendiamide 20% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) แก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจและวิธีป้องกันกำจัดที่ถูกวิธี และถูกต้องตามหลักวิชาการ

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรขอเน้นย้ำอีกครั้ง การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ควรป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน หากใช้สารเคมีก็ควรใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) แล้วยังสร้างความปลอดภัยให้แก่เกษตรกร และผู้บริโภคอีกด้วย

Advertisment

 

ที่มา   มติชนออนไลน์