ผู้ประกันตนรู้หรือยัง! หากเสียชีวิตระหว่างรับบำนาญ เงินที่เหลือเข้ากองทุนแทน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) อยู่ระหว่างเปิดเวทีประชาพิจารณ์ทั่วประเทศในเรื่องการปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพ ซึ่งทางคปค.และเครือข่ายผู้ประกันตนมีความกังวลในเรื่องการปฏิรูป เนื่องจากยังมีเรื่องที่ควรหยิบเข้าไปปฏิรูป ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงในการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ และผู้ประกันตนหลายคนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ปัจจุบันกฎหมายการรับเงินบำนาญยังมีช่องโหว่ที่หลายคนไม่รู้อีก เนื่องจากทางคปค.ได้จัดสัมมานาอบรมการรับรู้เรื่องกฎหมายประกันสังคมในพื้นที่ต่างๆ อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ชลบุรี สระบุรี ปทุมธานี ฯลฯ พบว่า ผู้ประกันตนกว่าร้อยละ 60 ที่เข้าร่วมอบรมในแต่ละพื้นที่ไม่ทราบกฎหมายเรื่องการรับเงินบำนาญชราภาพว่า หากเสียชีวิตในช่วงที่เกษียณอายุการเป็นผู้ประกันตนไปแล้ว และไม่เข้าตามเงื่อนไขที่กำหนดนั้น เงินออมที่เก็บสะสมไว้ตอนเป็นผู้ประกันตนจะต้องเข้ากองทุนทั้งหมด โดยทายาทไม่สามารถมารับต่อได้

“ตามกฎหมายประกันสังคมระบุว่า หากผู้ประกันตนอายุ 55 ปี ซึ่งเป็นช่วงเกษียณอายุการทำงานตามกฎหมายปัจจุบัน โดยปกติจะได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน แต่หากในกรณีที่เสียชีวิตลงภายใน 60 เดือน หรือประมาณ 5 ปีจะได้รับเงินเป็น 10 เท่าของเบี้ยรายเดือนชราภาพ เช่นหากได้รับเดือนละ 3,000 บาทก็จะได้เพิ่มเป็นเงินก้อน 30,000 บาท เรียกว่าเป็นเงินทดแทนเสียชีวิต แต่เงินที่ออมไว้สมัยเป็นผู้ประกันตนที่ยังเหลืออยู่นั้น จะไม่สามารถให้กับทายาทได้ โดยต้องเข้ากองทุนทั้งหมด ขณะเดียวกันหากเสียชีวิตเกิน 60 เดือนหลังเกษียณจะไม่ได้รับอะไรเลย” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวอีกว่า ทางคปค. จึงอยากสอบถามทางสปส. ว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกันตนที่เสียชีวิตและเข้ากรณีแบบนี้จำนวนเท่าไร และเงินเข้ากองทุนเป็นจำนวนเงินเท่าไร ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน ควรจะมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้ทายาทได้รับเงินก้อนที่เหลือ เพราะก็เป็นเงินที่ผู้ประกันตนออมมาตลอดชีวิต

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า กรณีข้อกังวลดังกล่าว ทางสปส.เข้าใจและเล็งเห็นเรื่องนี้ โดยในปี 2561 จะมีการหารือถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบตรงนี้ โดยหากผู้ประกันตนที่เกษียณไปแล้วและเสียชีวิต มีความประสงค์จะให้เงินมอบแก่ทายาทนั้น จะต้องหารือกันว่า อาจมอบให้ในกรณีที่ครอบครัวหรือทายาทที่รับมอบมีความเดือดร้อน จำเป็น เช่น คู่สมรสไม่มีอาชีพเลี้ยงตน หรือทายาทยังอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียน รวมไปถึงความจำเป็นอื่นๆ ก็จะมีการมอบเงินบำนาญส่วนที่เหลือให้ได้

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์