ศบค. พบติดโควิดวันนี้ (22 มี.ค.) เพิ่มขึ้น 73 ราย เสียชีวิตอีก 1 ราย

แพทย์หญิงอภิสมัย-ผช.โฆษก ศบค.

ศบค. พบติดเชื้อโควิดรายใหม่ วันนี้ (22 มี.ค.) เพิ่มขึ้น 73 ราย ป่วยสะสม 27,876 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เพศชายเป็นพนักงานบริษัท อายุ 60 ปี มีโรคเบาหวาน ความดัน มะเร็งปอดระยะสุดท้าย กทม.ยอดยังพุ่งต่อเนื่อง จับตาการเดินทางข้ามจังหวัดช่วงสงกรานต์

วันที่ 22 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 73 ราย

แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 66 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมขณะนี้ 27,876 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตพบเพิ่ม 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 91 ราย

ชายไทย อาศัยในกทม. เสียชีวิตรายที่ 91

สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 91 เป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 60 ปี อาชีพพนักงานบริษัท โรคประจำตัว โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งปอดระยะสุดท้าย อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 มี.ค.2564 เข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก

วันที่ 15 มี.ค. ช่วงเย็นมีอาการหายใจเหนื่อย ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์วินิจฉัยเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง และผลพบเชื้อโควิด-19 และเข้าห้องแยก วันที่ 18 มี.ค. มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และทำการกู้ชีพ และเสียชีวิตในเวลา 13.17 น.

Advertisment

กทม.ยอดติดเชื้อพุ่งอีก 21 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศนั้น มาจากระบบเฝ้าระวัง 22 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 8 ราย, สมุทรสาคร 8 ราย, นครปฐม 1 ราย, ปทุมธานี 1 ราย, นนทบุรี 1 ราย, สมุทราปราการ 1 ราย, ชลบุรี 1 ราย และราชบุรี 1 ราย

และมาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 44 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 25 ราย กรุงเทพฯ 13 ราย ปทุมธานี 5 ราย และเพชรบุรี 1 ราย เฉพาะกทม.มียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้ง 2 ส่วนคือมาจากระบบเฝ้าระวังและการค้นหาเชิงรุกรวม 21 ราย ซึ่งยังเป็นพื้นที่ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด (ตามตาราง)

“วันนี้สมุทรสาครรายงานรวม 33 ราย ลดลงจากันก่อนหน้าจึงปรับเป็นสีเขียว แต่กรุงเทพมหานครวันนี้เป็นสีแดงจาก 16 ราย วันนี้เพิ่มเป็น 21 ราย แต่ถ้าย้อนไปดูตลอดสัปดาห์ กรุงเทพมหานครยังรายงานตัวเลข 2 หลัก 3 หลัก อยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายละเอียดที่ศบค.พูดคุยกันวันนี้ค่อนข้างเยอะ” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

Advertisment

จับตา การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่เสี่ยงเพิ่ม

นอกจากนี้ยังมีจ.ปทุมธานีที่ยังมีการติดตามอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังมีการรายงานให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และตอนนี้ที่เรายังเฝ้าระวังอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นจังหวัดตาก นนทบรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เรายังพบว่ามีการกระจายจากกลุ่มก้อนตลาดที่รายงานไปก่อนหน้านี้

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้มักจะมีจังหวัดที่เรามักผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ค่อยมีรายงานการติดเชื้อ แต่วันนี้กลายเป็นว่ามีการพบเชื้อในสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดแรกได้แก่ จ.มุกดาหาร มีรายงาน 1 ราย วันที่ 18 มีนาคม วันที่ 19 มีนาคม รายงานอีก 1 ราย ตอนนี้ก็ยังติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าเป็นการติดเชื้อมาจากกรุงเทพมหานคร และมีการเดินทางไปที่จ.มุกดาหาร

เช่นเดียวกับจ.ศรีสะเกษที่มีการติดเชื้อที่ตลาดบางแค และวันนี้ จ.ยโสธร ก็ถือว่าไข่แตก โดยเมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมาพบการติดเชื้อ 1 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ติดเชื้อทั้งจังหวัดต่อเนื่องกันมายาวนาน ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อที่ยโสธรก็สืบเนื่องมาจากการเดินทางข้ามไปจากพื้นที่เสี่ยงจ.สมุทรสาคร นั่นเอง

“ถือได้ว่าเป็นการผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง และเดินทางไปยังพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อมาก่อน ซึ่งต้องมีความระมัดระวัง เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้จะมีการเดินทางข้ามจังหวัดกันมากกว่านี้” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

 

เน้นย้ำมาตรการ “สงกรานต์”

สำหรับการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อจากกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ ทาง ศบค. จะมีการปรับมาตรการอย่างไร หรือไม่นั้น แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า สงกรานต์ยังสามารถจัดได้ตามปกติ ไม่ได้มีการห้ามแต่อย่างใด แต่ขอให้ปลอดภัย อยู่ในมาตรการที่ทางพื้นที่ของจังหวัดสามารถจัดการได้

รายละเอียดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 73 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ 66 ราย มีดังนี้

  • สมุทรสาคร 33 ราย
  • กรุงเทพมหานคร 21 ราย
  • ปทุมธานี 6 ราย
  • เพชรบุรี 1 ราย
  • นครปฐม 1 ราย
  • นนทบุรี 1 ราย
  • สมุทรปราการ 1 ราย
  • ชลบุรี 1 ราย
  • ราชบุรี 1 ราย

ผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย มีดังนี้

  • เยอรมนี 1 ราย
  • เบลเยียม 1 ราย
  • กาตาร์ 1 ราย
  • โปแลนด์ 1 ราย
  • เดนมาร์ก 1 ราย
  • สหรัฐอเมริกา 1 ราย
  • ฮังการี 1 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. 

  • ยอดผู้ติดเชื้อรวม 123,850,904 ราย
  • อาการรุนแรง 90,188 ราย
  • รักษาหายแล้ว 99,778,463 ราย
  • เสียชีวิต 2,727,428 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 30,521,765 ราย
2. บราซิล จำนวน 11,998,233 ราย
3. อินเดีย จำนวน 11,645,719 ราย
4. รัสเซีย จำนวน 4,456,869 ราย
5. สหราชอาณาจักร จำนวน 4,296,583 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 116 จำนวน 27,876 ราย