สปสช. เปิดเกณฑ์เยียวยาคนแพ้วัคซีนโควิด

ฉีดวัคซีน

สปสช.เปิดเกณฑ์เยียวยาผลข้างเคียงวัคซีนโควิด สูงสุด 4 แสนบาท-รักษาพยาบาลฟรี ด้านรัฐอัดงบ 100 ล้าน หวังสร้างความมั่นใจวัคซีน

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เปิดเผยผ่านรายการ TNN News ข่าวเช้า ช่อง 16 ถึงกรณีการเยียวยาประชาชนหากมีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้วัคซีนป้องกันโควิด

ทั้งนี้ เงื่อนไขรับการเยียวยาหลัก ๆ ต้องเป็นผู้ได้รับผลข้างเคียง หรือเกิดความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด ตั้งแต่อาการบาดเจ็บ พิการ ไปจนถึงเสียชีวิต ล้วนเข้าข่ายทั้งหมด

โดยหากเป็นอาการบาดเจ็บต่อเนื่อง เช่น อาการชา จนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เกิดความเสียหายต้องหยุดงาน หรือเสียเวลารักษาตัว ก็จะเข้าข่ายการได้รับเงินเยียวยา 

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดแขน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนที่พบได้ทั่ว ๆ ไป และไม่ได้เกิดความเสียหาย อาจไม่เข้าข่ายรับการเยียวยา

เยียวยาสูงสุด 4 แสนบาท

เบื้องต้น หากเกิดความสงสัยว่ามีอาการแพ้จากวัคซีนโควิดให้ยื่นเรื่องกรอกแบบฟอร์มแพ้วัคซีน โดยระบุชื่อ อาการ และเลขที่บัญชีธนาคาร และยื่นเรื่องได้ที่ รพ.ที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีน หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช.ทุกเขต

โดยการพิจารณาให้เงินเยียวยาจะเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการระดับเขต ซึ่งจะมีทั้งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญรวมอยู่ในกลุ่ม เพื่อช่วยพิจารณาว่าเป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากวัคซีนจริงหรือไม่ โดยปัจจุบันมีอยู่ 13 เขตทั่วประเทศ จะประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อความรวดเร็วในการเยียวยา ซึ่งหากพิจารณาเสร็จสิ้นจะโอนเงินเยียวยาให้ไม่เกิน 5 วัน หลังจากยื่นคำร้อง โดยมีหลักเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยา ดังนี้

1.อาการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท

2.สูญเสียอวัยวะ หรือพิการ ไม่เกิน 240,000 บาท

3.เสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท

ทั้งนี้ เงินเยียวยาและช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ ไม่นับรวมค่ารักษาพยาบาลที่ทางภาครัฐจะออกให้ฟรีเต็มจำนวน โดยสามารถยื่นเรื่องได้ไม่เกิน 2 ปีหลังฉีดวัคซีน

เนื่องจากอาการแพ้ของผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการหลังฉีดไปแล้วสักระยะหนึ่ง แม้จะมีโอกาสน้อยที่เพิ่งแสดงอาการหลังฉีดมานานแล้ว แต่ก็มีโอกาส หากทราบว่าเกิดอาการแพ้อาจปรึกษาแพทย์ หากพิจารณาและเห็นโอกาสความเป็นไปได้ก็แจ้งเรื่องได้ทันที

ทั้งนี้ เป็นการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ป่วย และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่ารัฐจะช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวัคซีนโควิด เพราะวัคซีนที่ใช้ฉีดกันขณะนี้ยังเป็นตัวที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น อาจไม่สมบูรณ์ 100%

แต่ถ้าเทียบกับอัตราการลดการแพร่ระบาดของโรคได้ เราเชื่อว่าการนำวัคซีนมาใช้มีประโยชน์มากกว่าการไม่ใช้ ฉะนั้นกติกาการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากวัคซีนโควิดจึงมีความยืดหยุ่นสูง ทั้งในแง่ระยะเวลาและเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้น

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มฉีดวัคซีน มีผู้ยื่นเรื่องแพ้วัคซีนมาประมาณ 220 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ มี 50 รายพักรักษาตัวใน รพ. ส่วนเขตอื่นมีบ้างเล็กน้อย อาทิ ภาคตะวันออกพบผลข้างเคียง 2 ราย พิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือเพิ่มเติมอื่น ๆ อาจต้องรอนโยบายจากรัฐบาล แต่เชื่อว่าถ้าหากทำกลไกตรงนี้ให้รวดเร็ว จะทำให้ประชาชนมั่นใจในการฉีดวัคซีน

“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในตอนนี้ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เราพึงพอใจทั้งหมด หลายพื้นที่อยู่ในระดับดี แต่ในบางพื้นที่ยังน่าวิตกกังวล กลไกหนึ่งที่จะตามมาคือการฉีดวัคซีน

ประชาชนหลายท่านอาจกลัวการฉีดวัคซีนทั้งจากการเสพข่าวที่ดีและไม่ดีของวัคซีน แต่ในทางการแพทย์อุบัติการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับประโยชน์การได้รับการป้องกันจากการฉีดวัคซีน”

รัฐอัดงบช่วย 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.จเด็จ ได้เปิดเผยว่า ภาครัฐได้เตรียมงบประมาณราว 100.32 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน ตามนโยบายการเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศ

โดยคณะกรรมการ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เรียบร้อยแล้ว และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป