ศบค. พบ 5 คลัสเตอร์ใหม่ จับตาเขตปทุมวัน ย่านห้างดัง ติดเชื้อพุ่ง 144 ราย

ศบค. พบ 5 คลัสเตอร์ใหม่ เฝ้าระวัง ย่านห้างสรรพสินค้า เขตปทุมวัน ติดเชื้อพุ่ง 144 ราย ดีใจผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจภาพรวมลดลง กทม.-ปริมาณฑลยังทรงตัว ต่างจังหวัดเหลือ 2 หลัก

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,817 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,502 รายติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 315 ราย ผู้ป่วยสะสม 145,933 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,396 ราย

ในส่วนของผู้เสียชีวิตพบเพิ่ม 36 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 16 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นนทบุรี 3 ราย ชลบุรี 2 ราย นครสวรรค์ 2 ราย สมุทรสาคร 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย นครปฐม 1 ราย ตาก 1 ราย สงขลา 1 ราย พระนครศรีอยุธยา 1 ราย พัทลุง 1 ราย ราชบุรี 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสมขณะนี้อยู่ที่ 1,119 ราย

ยังคงพบโรคประจำตัวในผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ส่วนปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อยังพบจากบุคคลในครอบครัว การเดินทางในพื้นที่ระบาด และอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 21 ราย เพศหญิง 15 ราย มีค่ากลางของอายุอยู่ที่ 68 ปี ผู้ป่วยที่ใช้ระยะเวลารักษานานที่สุด คือ 46 วัน และมีค่ากลางอยู่ที่ 16 วัน

ดีใจ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ (ภาพรวม) ลดลง

นายแพทย์ทวีศิลป์ เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ แบ่งเป็น นอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 20,857 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลสนาม 29,633 ราย และที่ประชุม ศบค. ในวันนี้ยังให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,195 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 361 ราย

“ผมขออนุญาตขยายความว่า ตรงนี้เป็นภาระงานในด้านสาธารณสุขที่ไม่ใช่แค่ในต่างจังหวัด แต่กรุงเทพมหานครก็จะเห็นว่า เส้นกราฟสีแดง ภาพรวมของทั้งประเทศพันกว่าราย ดูเหมือนจะคงที่มาตลอด กรุงเทพและปริมณฑลก็เป็นกราฟที่ขนานไปกับภาพรวมประเทศไทย เป็นเส้นแนวตรงซึ่งก็คล้ายกับต่างจังหวัดที่เป็นเส้นสีเขียวอยู่ข้างล่าง”

“แต่คนที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจที่เป็นกราฟแท่งสีแดง จะเห็นว่ายังทรง ๆ กันอยู่ จาก 412 เดือนที่แล้ว ลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 400 กว่าราย เหลือ 300 กว่า ราย ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แม้จะเป็นตัวเลขที่ปรับลงมาไม่กี่คนจากผู้ป่วยที่ยังใส่เครื่องช่วยหายใจก็ดีใจแล้ว เพราะว่าต้องใช้คนเข้าไปดูแลจำนวนมาก อันนี้ต้องอยู่ใน ห้องความดันลบ คล้ายไอซียู ฉะนั้นถ้าลดลงไปได้แม้แต่ 1 คนก็ดีใจนะครับ”

“ส่วนกราฟแท่งสีน้ำเงิน ก็คือภาระงานที่เกิดขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑลจะเห็นว่า เส้นโด่งกว่า สีเขียว คือ คนที่ใส่เครื่องช่วยหายใจที่อยู่ต่างจังหวัด จะเห็นว่า ปรับลดลงมาเหลือ 2 หลัก ส่วนในกรุงเทพฯ ยังไม่ลดมากเท่าไหร่ ก็ต้องดูแลกันต่อไป”

กทม.พบ 5 คลัสเตอร์ ต้องเฝ้าระวัง

นอกจากนี้ ที่ประชุมศูนย์บูรณาการของ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายงานว่า กรุงเทพฯ พบคลัสเตอร์เพิ่มขึ้นรายวันหลายร้อยคน ทำให้สีในพื้นที่มีการปรับเข้มขึ้น แต่ในบางเขตก็มีการปรับลดลง แต่แนวโน้มกระจายไปทั่วหลายพื้นที่ โดยส่วนใหญ่จะพบเขตทุ่งครุ ตามโรงงานต่าง ๆ ที่อยู่รอบชายขอบของกรุงเทพฯ ส่วนกรุงเทพฯ ตอนกลางก็จะมีคลัสเตอร์จากห้างสรรพสินค้า ตามที่ได้มีรายไปก่อนหน้านี้

สำหรับกลุ่มคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดมีทั้งสิ้น 25 เขต ดังนี้ บางกะปิ คลองเตย ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก ดินแดง ห้วยขวาง สัมพันธวงศ์ บางกอกน้อย ราชเทวี พระนคร ปทุมวัน ทุ่งครุ บางแค ลาดพร้าว จตุจักร คลองสาน สวนหลวง ยานนาวา มีนบุรี วัฒนา คลองสามวา บางนา สาทร และบางซื่อ

ส่วนคลัสเตอร์ที่พบใหม่ 5 เขต ได้แก่ หนองจอก ลาดกระบัง ปทุมวัน ยานนาวา และราษฎร์บูรณะ และที่มีการพูดคุยกันมากในที่ประชุมคือ ห้างสรรพสินค้า ย่านปทุมวัน พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 144 ราย โดยทาง กทม.จะเป็นผู้ให้รายละเอียดอีกครั้ง

“ชุดข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้เปิดเผยทั้งสิ้น ไม่ได้มีการปิดบังอะไร แต่ผู้ที่จะให้ข้อมูลรายละเอียดได้ดีกว่าผม ก็คือทางกรุงเทพมหานคร ผ่านทางโฆษก กทม. รายละเอียดคลัสเตอร์แต่ละพื้นที่ กทม. มีชุดข้อมูลที่จำนำเสนอต่อประชาชนโดยละเอียดก็ขอให้ กทม. เป็นผู้ให้ข่าวต่อ คล้ายกับ สสจ. หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ในพื้นที่ปริมณฑลรวมทั้งต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นที่เราเห็นข่าว ไม่ได้เป็นการนำเสนอข่าวซ้ำซ้อนกัน แต่เป็นการลงรายละเอียดในเบื้องต้นของผมที่แถลงข่าวภาพรวมทุกวัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว