แพทยสภาจัดวงเสวนาความรุนแรงในรพ. ร่วมกันหาทางป้องกัน เริ่มห้องฉุกเฉินด่านแรก

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภาได้มีการจัดสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในรพ. ทางออกคืออะไร” เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 200 คน ทั้งนี้ นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในรพ. ในระยะหลังๆ นี้เกิดมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น ปัญหาสำคัญคือสังคมไทยนิยมใช้ความรุนแรง ไม่ถูกใจ ไม่พอใจก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา และที่ทำให้เกิดความรุนแรงในรพ.ได้ง่ายๆ ก็เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์เปลี่ยนจากการเคารพ ให้การช่วยเหลือไปเป็นเรื่องของการให้บริการ โดยผู้ป่วย ญาติก็มองว่าตัวเองคือผู้รับบริการ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์คือผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขในเรื่องนี้

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ โครงสร้างของรพ.ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นฐานความเคารพกันและกันอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย ญาติมีความสะดวกในการเดินทาง พื้นที่โล่งเข้าออกได้หลายทาง ตรงนี้ก็ต้องปรับแก้เหมือนกันแต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น อาจจะเริ่มต้นที่ห้องฉุกเฉินก่อนก็ได้ เพราะเป็นสถานที่ที่เกิดความรุนแรงมากที่สุด ป้องกันคนที่ไม่เกี่ยวข้องให้อยู่ในนั้นน้อยที่สุด ซึ่งบางแห่งเริ่มทำไปแล้ว แต่บางแห่งทำยากเพราะเรื่องของงบประมาณ และสถานที่คับแคบ อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็เริ่มซ้อมแผนรับมือกับเหตุความรุนแรง เพิ่มเติมจากการซ้อมแผนรับมือกับโรคภัยสุขภาพต่างๆ ด้วย เพราะทุกวันนี้เมื่อเกิดเรื่องแล้วบุคลากรไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้แจ้ง สอบถาม หรือร้องเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อลดความร้อนใจ

“ความรุนแรงในรพ.มีทั้งรูปแบบที่ผู้ป่วย ญาติ ทำความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ และกรณีที่ประชาชนด้วยกันเองมาสร้างความรุนแรงในรพ. ซึ่งเกิดจากการไม่เคารพสถานที่ ถ้าประชาชนรู้ว่าสถานพยาบาลคืออะไรเขาจะไม่สร้างความรุนแรง และอีกอย่างคือเมื่อทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ในแง่ของการให้อภัยนั้นเราให้อภัยได้อยู่แล้ว แต่เรื่องของกฎหมายก็ต้องดำเนินต่อไป เหมือนต่างประเทศจะใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ที่จีน พยาบาลโดนคนเมาต่อยจะถูกจำคุก 4 เดือน ของไทยตอนนี้ยกกระเช้ามาขอโทษก็จบ” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานผลการสำรวจความเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในสถานพยาบาลในปี 2559 พบว่ามีการกระทำความรุนแรงต่อบุคลากรสาธารณสุขทางวาจามากที่สุดร้อยละ 91 กระทำความรุนแรงผ่านสื่อสารธารณะ โซเชียลมีเดียร้อยละ 74 ทำความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 43 ซึ่งโดยรวมมีผลต่อการทำงานมากถึงร้อย 68 และมากกว่าร้อยละ 50 เกิดจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย

 

Advertisment

 

ที่มา : มติชนออนไลน์