เปิดแนวทางจ่ายเงินผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน ครอบคุมบริการ 6 ด้าน

ผู้ป่วยโควิด

เปิดแนวทางจ่ายเงินผู้ป่วยกักตัวที่บ้านของ สปสช. ครอบคุมบริการ 6 ด้าน หลังจากจับคู่คลีนิคใกล้บ้านให้รับดูแลคนไข้แล้ว ส่วนเดือนหน้าจะเริ่มแจกชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้โรงพยาบาลในพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อแจกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผ่านระบบออนไลน์ทางเฟสบุ๊กของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นการตรวจระบบ ATK และค่าชดเชยการเข้าสู่ระบบการรักษา home isolation

โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การตรวจหาโควิด-19 แบบให้ผลเร็ว ATK (Antigen Test Kit) เมื่อมีผลบวกสามารถทำ home isolation (การกักตัวที่บ้าน) โดยที่ไม่ต้องรอผลตรวจ RT-PCR ซ้ำ โดยปัจจุบันมีหน่วยคัดกรองเชิงรุกหลายหน่วย เช่นของทางกรุงเทพมหานคร และล่าสุด สปสช.ร่วมกับกับคณะเทคนิกการแพทย์ เปิดศูนย์คัดกรองด้วย ATK ที่ลานจอดรถชั้น 1 อาคาร B ของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ รับวันละ 2,500 คน

“การตรวจด้วย ATK คนไทยทุกคนสามารถตรวจคัดกรองได้เลยถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง และผลเป็นบวก (ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ หรือ probable case) เข้า home isolation ทันที ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่เสียค่าใช้จ่าย เราจะขึ้นทะเบียนคนไข้ในฐานข้อมูล home isolation และหลังจากนั้นจะจับคู่กับคลีนิค หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านให้รับคนไข้เพื่อการดูแล”

ทั้งนี้ คนที่จะกักตัวที่บ้านได้ต้องเข้าเกณฑ์สีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก หรือคนไข้ที่เคยพักรักษาโควิด-19 ในโรงพยาบาลมาแล้วเกิน 10 วัน จากอาการกลุ่มสีเหลืองเปลี่ยนไปเป็นสีเขียว หรือไม่มีอาการแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้สามารถกักตัวที่บ้านได้ แต่ต้องอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว 7 โรค ไม่เป็นโรคอ้วน และแพทย์วินิฉัยให้กักตัวที่บ้านได้

สำหรับคนไข้ที่กักตัวที่บ้านไม่ได้ อาจจะต้องอยู่ที่ community isolation (ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน) และมีความจำเป็นที่ต้องมีผล RT-PCR แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการเหล่านี้จะไม่ใช่อุปสรรคในการนำคนไข้สู่การรักษา

“ทพ.อรรถพร” อธิบายว่า คลีนิคหรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ที่เป็นคู่ให้ดูแลคนไข้ที่กักตัวที่บ้าน จะทำการเยี่ยมไข้วันละ 2 ครั้งผ่านระบบวิดีโอคอล ติดต่อกัน 14 วัน

ซึ่งทาง สปสช. มีแนวทางจ่ายเงินดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวที่บ้านโดยจ่ายผ่านคลีนิคหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ดังนี้

1. RT-PCR: ตรวจแล็บ 1,600 บาทต่อครั้ง ค่าอื่น ๆ ในห้องแล็บ 600 บาทต่อครั้ง ค่าเก็บ swap 100 บาทต่อครั้ง

2. ค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย: แบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาททต่อวัน (ค่าอาหาร 3 มื้อ) ติดตามประเมินอาการให้คำปรึกษา

3. ค่าอุกรณ์สำหรับผู้ป่วย: ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล อุปกรณ์วัดความเข้มข้นของออกซิเจนโดยหนีบที่ปลายนิ้ว ตามรายการที่ใช้จริง ไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน

4. ค่ายา: เพื่อการรักษาเฉพาะโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อคน

5. ค่ารถส่งต่อ: กรณีผู้ป่วยที่เคยพักรักษาโควิด-19 ในโรงพยาบาลมาแล้วเกิน 10 วัน จากอาการกลุ่มสีเหลืองเปลี่ยนไปเป็นสีเขียว หรือไม่มีอาการแล้ว จะไปกักตัวที่บ้าน จ่ายตามจริงและตามระยะทาง รวมค่าทำความสะอาดรถ 3,700 บาท

6. ค่าเอกซเรย์ปอด จ่ายในอัตรา 100 บาทต่อครั้ง

“เมื่อก่อนการจ่ายเงินของ สปสช. ในการรักษาทั่วไปจะจ่ายให้กับคลีนิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขต่อเมื่อให้บริการเรียนร้อยแล้ว และส่งบิลมาเรียกเก็บกับ สปสช. แต่กรณีผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากมีคนไข้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เราจึงปรับวิธีจ่ายเงิน แทนที่จะจ่ายย้อนหลัง เปลี่ยนเป็นจ่ายล่วงหน้า ตามจำนวนคนไข้ที่รับมา แบบเหมาจ่ายในอัตรา 3,000 บาทต่อราย ซึ่งหน่วยบริการจะได้รับการโอนเงินทุกสัปดาห์ และภายหลังให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 จนสิ้นสุดการดูแลแล้ว หากค่าใช้จ่ายที่ประมวลผลได้มากกว่าจำนวนเงินที่จ่ายแบบเหมาจ่ายไปแล้ว หน่วยบริการจะได้รับการจ่ายชดเชยเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยที่กำหนด”

“ทพ.อรรถพร” กล่าวในตอนท้ายว่า สปสช. ติดตามข้อมูลยอดผู้ป่วยที่รอเข้าระบบ home isolation เป็นรายนาที ตอนนี้มียอดสะสม 37,000 คน รายใหม่วันนี้ 2,843 ราย จับคู่ผู้ป่วยกับคลีนิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขแล้ว 35,511 คน รอเข้า 3,092 คน

“ส่วนการมติของบอร์ด สปปช. เรื่องซื้อชุดตรวจ ATK แจกประชาชนฟรี ตอนนี้บอร์ดมีมติแล้ว และเราประสานไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี และทางเครือข่ายประสานไปยังองค์การเภสัชกรรม เพื่อดูเรื่องเทคนิคและวิชาการ แล้วเราจะเปิดหาบริษัทมาเสนอราคาวันที่ 29 ก.ค. นี้ จากนั้นภายในเดือนหน้าจะมีชุดตรวจ ATK ไว้ให้กับโรงพยาบาล เริ่มในพื้นที่สีแดงก่อน เพื่อให้ทางโรงพยาบาลแจกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับไปตรวจที่บ้าน”