ผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา 9.4 หมื่นราย คาดอีก 2 สัปดาห์ยอด ตจว. ถึงจุดพีค 

คลัสเตอร์โรงงาน
แฟ้มภาพ

กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลข ผู้ติดเชื้อโควิด -19 กลับภูมิลำเนาแล้วกว่า 94,664 ราย คาดอีก 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลับต่างจังหวัดถึงจุดพีค

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในกทม. และปริมณฑลที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงได้มีมาตรการส่งผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.จนถึงวันที่  4 ส.ค.ได้ส่งผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนาแล้วทั้งสิ้น 94,664 ราย 

กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 7 มีจำนวน 13,022 ราย เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 ราย เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 ราย และเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 ราย ที่เหลือเป็นเขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน จำนวน 4,447 ราย เขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 5,125 ราย เขตสุขภาพที่  3 จำนวน 7,515 ราย

ขณะที่ พื้นที่ภาคกลางเขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 4,711 ราย เขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 7,871 ราย เขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 8,691 ราย ส่วนภาคใต้ เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 1,424 ราย และเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 983 ราย

ทั้งนี้เมื่อถามถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ภาพรวมเตียงในทุกเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ยกเว้นกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 156,189 เตียง ณ ปัจจุบันใช้ไป 114,786 เตียง คิดเป็น 73.49% คงเหลือเตียงว่างประมาณ 41,185 เตียง

หากถามว่าขยายได้มากกว่านี้หรือไม่ แยกออกเป็น 3 กลุ่ม คล้ายอาการผู้ป่วยเขียว เหลือง แดง คือเตียงสีเขียว ถ้าไม่นับปริมณฑล เขตสุขภาพที่  4-6 และภาคตะวันออก พบว่า เขตสุขภาพที่ 3-4 มีการครองเตียงสูงขึ้นประมาณ 70% เขตสุขภาพที่ 11 เพิ่มขึ้น 62% เขตสุขภาพที่ 1 เพิ่ม 52% และเขตสุขภาพที่ 2 เพิ่ม 62% ส่วนเขตสุขภาพที่ 12 เพิ่มเป็น74% ฉะนั้นที่มากจะอยู่ในเขตสุขภาพที่ 4-6 ประมาณ 80%

“แต่ก็ถือว่าตอนนี้ยังมีเตียงว่างอยู่ เพราะถ้าเป็นเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่ยาก มีโอกาสจัดการได้ง่าย และทุกจังหวัดก็ทำได้ เช่น แยกกักตัวที่บ้าน หรือชุมชน โรงพยาบาลสนาม ส่วนเตียงกลุ่มสีเหลืองจะยากขึ้นมาอีกเสต็ป แต่ใช้วิธีการบริหารโดยโรงพยาบาลในพื้นที่ หรือโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ บางแห่งก็มีโรงพยาบาลโควิดโดยเฉพาะ และส่งผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ไปรักษาโรงพยาบาลใกล้เคียง 

แต่ที่ยากคือเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ที่บางรายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเครื่องให้ออกซิเจน โรงพยาบาลศูนย์หลายแห่งพัฒนาห้องไอซียูเพิ่มขึ้นมีแยกห้องความดันลบ หรือบางแห่งก็เพิ่มเตียงจากที่มี 7-8 เตียงก็เพิ่มเป็น 50 เตียง ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีความสามารถจัดการได้

แม้ว่าตอนนี้อัตราครองเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดงจะอยู่ที่ 75% ยังพอมีเหลืออยู่พันกว่าเตียงในภาพรวม แต่บางเขตสุขภาพก็เหลือน้อย สธ.ก็พยายามหาแนวทาง มีนโยบายส่งผู้ป่วยข้ามเขต ก็คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ หรืออีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงพีคของผู้ป่วยต้างจังหวัด ที่ถูกส่งกลับไปยังภูมิลำเนา”

อย่างไรก็ตาม นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ตอนนี้จะครบ 2 ปีแล้วที่บุคลากรทางการแพทย์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าจบง่าย ๆ รวมถึงยังมีภาระซ้อนกัน 2 ส่วน เพราะได้ดึงทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จากต่างจังหวัด เข้ามาช่วยงานในส่วนกลางด้วย และในแต่ละจังหวัดของตัวเองก็มีผู้ป่วยกลับไปอีกเกือบแสนราย เกิดความเหนื่อยล้าสะสม สธ.จึงได้ร่วมวางแผนกันว่าจะต้องมีการดูแลสุขจิตบุคลากรว่า ควรทำอย่างไรเพื่อสามารถเดินหน้าฝ่าวิกฤตครั้งนี้ต่อไปได้