ศบค.สั่งบริษัทเอกชนจัดตั้ง Company Isolation ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ศบค.ย้ำหน่วยงานรัฐและเอกชนยังต้อง WFH อย่างต่อเนื่อง สั่งบริษัทเอกชน ห้างร้าน ที่มีพนักงานเกิน 50 คน จัดตั้ง Company Isolation ก่อนคลายล็อกดาวน์ เพิ่มการตรวจ ATK พนักงานที่มาทำงานทุกสัปดาห์ ส่วนตลาดต้องสุ่มตรวจผู้มาใช้บริการเป็นระยะ เตรียมจัดทำ Thaicovid pass เหมือนต่างประเทศ

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า มติของ ศบค. นอกเหนือจาก (ข้อ 1) คือการคงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรและตามมาตรการเดิมที่จะครบกำหนดการประเมินในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564

และมีมติเห็นชอบปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด (สีแดงเข้ม) โดยให้เปิดได้เฉพาะกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้ ส่วนธุรกิจสื่อสารและเครื่องใช้ไฟฟ้ายังไม่อนุญาตนั้น รวมถึงมาตรการแฟกตอรี่แซนด์บอกซ์แล้ว

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า (ข้อ 2) ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในการเพิ่มมาตรการและการจัดการองค์กรดังนี้ คือ (ดูตารางประกอบท้ายข่าว)

2.1 ดำเนินมาตรการ Test-Trac-Isolate อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเพิ่มการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ชุดตรวจ ATK ในกทม.และปริมณฑล และเตรียมทีม CCRT ให้เพียงพอ และจัดระบบการนำเข้าสู่ Home Isolation และ Community Isolation หรือโรงพยบาล

2.2 มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เน้นให้เวิร์กฟรอมโฮม (WFH) อย่างต่อเนื่อง ทั้งพนักงานของรัฐและเอกชน ในส่วนที่ยังจำเป็นต้องมาปฏิบัติงาน ให้มีการคัดกรองด้วย ATK ทุกสัปดาห์

รวมถึงให้บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ที่มีพนักงานเกิน 50 คน ให้จัดเตรียมที่แยกกัก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการคลายล็อกดาวน์ สำหรับพนักงานในการลงทะเบียนเข้ารักษาทั้งแบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) รวมทั้งกำกับติดตามตามมาตรการ DMHTTA

นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่มีพนักงานเกิน 100 คน ต้องพิจารณาดำเนินการบับเบิลแอนด์ซีลเต็มรูปแบบ

ส่วนตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ ให้คัดกรองให้ผู้ค้าและแรงงานทุกสัปดาห์ สุ่มตรวจผู้มาใช้บริการเป็นระยะด้วยชุดตรวจ ATK

รวมถึงการลดการเสียชีวิต ให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์อย่างน้อย 80% ใน กทม. อย่างน้อย 70% ในพื้นที่สีแดงเข้มอื่น และอย่างน้อย 50% ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ตลอดจนเร่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยระดับสีเขียวทั้งใน CI และ HI อีกทั้งรัฐจะสนับสนุนการตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเอง โดยไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ทั้งการจำหน่ายราคาถูกและให้จัดหาให้ง่าย รวมถึงระบบการดูแลรักษาเมื่อพบเชื้อ เน้นย้ำให้ประชาชนต้องป้องกันตัวทุกกรณี

นอกจากนี้จะมีพิจารณาแนวทางจัดทำ Thaicovid pass คือการทำประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีน ให้กับประชาชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมรับการเปิดประเทศ เช่น อาจเปิดให้ผู้ที่มี Thaicovid pass ไปนั่งรับประทานอาหารที่มีห้องแอร์ กล่าวคือคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วถึงจะสามารถไปใช้บริการได้ อันนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งมีการทำกันอยู่แล้วในหลายประเทศ

และ 3.คือการปรับมาตรการจำหน่ายสินค้าจำเป็น กิจการจำเป็นในห้างสรรพสินค้า เพื่อกระจายช่องทางการให้บริการและการอำนวยความสะดวกประชาชนที่มีการขอเปิดกิจการธนาคารและสถาบันการเงิน โดยในพื้นที่สีแดงเข้ม ให้ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้เฉพาะร้านอาหาร เครื่องดื่ม เฉพาะรูปแบบดิลิเวอรี่ ร้านขาย ซูเปอร์มาร์เก็ต และธนาคาร สถาบัน การเงิน ได้ไม่เกินเวลา 20.00 น.

“โดยสรุปคือคงพื้นที่เข้มงวดไว้จนถึงสิ้นเดือนนี้ 31 สิงหาคมนี้ เพิ่มมาตรการและการจัดการขององค์กร ประชาชนก็ต้องป้องกันตนเองในทุกกรณี การเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดได้ด้วยตัวเองโดยรัฐสนับสนุน และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง ดำเนินการ รวมทั้งฝ่ายเศรษฐกิจติดตามองค์กรต่าง ๆ” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวในตอนท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอ มาตรการคลายล็อกให้เปิดบางกิจกาจ เช่น ร้านเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์การก่อสร้าง หรือธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกาย ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม ศบค.ไม่อนุญาตให้เปิด ยังคงคุมเข้มต่อไป