รู้จัก C.1.2 โควิดสายพันธุ์ใหม่ น่ากลัวเท่าเดลต้าหรือไม่ ?

รู้จักโควิดพันธุ์ใหม่
ภาพจากเฟซบุ๊ก ภาพโดย fernando zhiminaicela จาก Pixabay

ทำความรู้จัก โควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ผู้เชี่ยวชาญห่วง อัตรากลายพันธุ์มากกว่าสายพันธุ์อื่น หวั่นระบาดเร็ว-ต้านวัคซีน 

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานการพบ โควิดสายพันธุ์ C.1.2 ในหลายประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ คองโก มอริเชียส จีน นิวซีแลนด์ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งความน่ากังวลของโควิดสายพันธุ์นี้คือ กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์เกือบ 2 เท่า

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด สายพันธุ์ C.1.2 เพื่อสร้างความเข้าใจ และเตรียมพร้อม

WHO ยังไม่ยืนยันความรุนแรง

ข่าวสด รายงานว่า ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพิจารณาตำแหน่งการกลายพันธุ์ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะส่งผลต่ออาการรุนแรงหลังรับเชื้อมากน้อยแค่ไหน มีบ้างที่อาจจะด้อยค่าแอนติบอดีสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นมา ซึ่งยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากนัก เพียงแต่ดูจากรหัสพันธุกรรมที่เป็นคาดเดาได้บ้าง

จึงมีความวิตกว่าจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ซึ่งคงต้องพิจารณาองค์ประกอบปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงการระบาดเป็นอย่างไร และตอนนี้ทั้งองค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาหรือ CDC ยังไม่ได้ยืนยันความรุนแรง จนจัดลำดับความสำคัญกับสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตามสายพันธุ์แอฟริกาใต้ไม่ค่อยระบาดมาถึงไทย จึงยังไม่มีอะไรบ่งชี้น่ากังวลใจ เพียงแต่เฝ้าจับตา

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า โดยปกติไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา เหมือนสายพันธุ์เดลตาพลัส ซึ่งก่อนหน้ามีข่าวออกมาว่าจะรุนแรงกว่าเดลตา แต่เวลาผ่านไปก็พบว่าเชื้อฝ่อลงและถูกจัดเป็นกลุ่ม AY.1 AY.2 จากนั้นก็ลดลง ในที่สุดก็ถูกถอดออกจากการจัดให้เป็นไวรัสที่ต้องเฝ้าระวัง

ส่วนที่ระบุว่า C.1.2 มีการระบาดไปถึง 7 ประเทศ โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ระบาดครึ่งประเทศ ต้องดูว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ขณะนี้

อย่างอัลฟา 6 เดือนที่แล้วระบาดเกือบ 100% แต่ตอนนี้เหลือน้อยกว่า 1% สำหรับประเทศไทยขณะนี้สายพันธุ์อัลฟาเหลือเพียงประปราย ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากเดลตาครองพื้นที่เกือบทั้งหมดแล้ว ส่วนเดลตากลายพันธุ์หรือ AY.4 ขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ ต้องดูอีกสักเดือน

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเริ่มชะลอตัวลดลง ส่งผลดีถึงการกลายพันธุ์ก็อาจจะน้อยลงด้วย และหากสามารถกันคนจากข้างนอกเข้ามาก็จะยิ่งดี เพราะการกลายพันธุ์เกิดจากการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนจำนวนมาก

สายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่เจอในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า ขณะนี้สายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่เจอในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีการเฝ้าระวังเรื่องสายพันธุ์อยู่ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง เฉพาะกรมตรวจได้สัปดาห์ละ 400-500 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่พบสายพันธุ์นี้ ตามรายงานของข่าวสด 

หวั่นระบาดเร็ว-ต้านวัคซีน

ทางด้าน น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย”  เรื่อง ค้นพบไวรัสก่อโรคโควิดใหม่ล่าสุด กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์เกือบ 2 เท่าตัว ข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า มีการคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจมีความสามารถในการแพร่ระบาดโรคได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น

รวมถึงมีความสามารถในการต่อต้านกับวัคซีน ทำให้มีประสิทธิผลลดลง และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น เพราะตำแหน่งของการกลายพันธุ์ มีมากมายหลายตำแหน่ง ซึ่งอาจไปเกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ทำให้เกิดผลดังกล่าวได้ จึงต้องติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ต่อไปว่า

  1. จะมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวาง จนสามารถเอาชนะไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่อย่างไร
  2. การกลายพันธุ์นั้น จะพัฒนาออกไปนอกตำแหน่งปุ่มหนาม ( Spike region) หรือไม่ เพราะถ้าพัฒนาออกไปนอกปุ่มหนาม จะทำให้วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเน้นเฉพาะการป้องกันที่ปุ่มหนามแทนที่จะเป็นไวรัสทั้งตัว เช่น mRNA และ Viral vector ก็จะได้รับผลกระทบต่อประสิทธิผลที่จะลดลงเป็นอย่างมาก

ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กต่อการค้นพบไวรัสโควิดสายพันธ์ใหม่ ระบุว่า “ความร้ายกาจไม่รู้จบ สายใหม่ C.1.2แอฟริกา เพี้ยนเร็ว หลบภูมิ หนีวัคซีน เจ้าพ่อมาเอง ยังเป็นระลอก 3 ชุดใหญ่ไฟกระพริบ”