เริ่มแล้ว! ประชุมลดขยะทะเลอาเซียน ชมไทยประเทศแรกห้ามสูบบุหรี่ชายหาด ชี้ขยะทะเล 80% มาจากบนบก

เริ่มแล้วประชุมลดขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน ชื่นชมไทยประเทศแรกประกาศห้ามสูบบุหรี่ชายหาด เผยขยะทะเลร้อยละ 80 มาจากบนบก 23 จังหวัดชายทะเล ขอความร่วมมือลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนภาชนะใส่อาหารเพื่อลดปริมาณขยะ

​เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ จ.ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทย และจีน โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรี ทส. เป็นประธานเปิดการประชุม มีตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศสมาชิกประเทศอาเซียนและประเทศจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเข้าร่วมประชุม

พล.อ.สุรศักดิ์ เปิดเผยว่า ขยะทะเล กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ที่องค์การสหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญ เพราะได้กำหนดให้การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจาก ทะเลทั่วโลกที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ ที่ต่างคนต่างตักตวงใช้โดยไม่คำนึงผลที่เกิดขึ้น ในระยะยาว กำลังเผชิญกับขยะ ที่ล่องลอยจากแผ่นดินออกสู่ทะเล และจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล รวมทั้งกิจกรรมในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหามากมาย ขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น แห อวน หรือซากสิ่งของ เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากและ ใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทำให้แนวปะการังและพื้นท้องทะเลเสื่อมโทรม ทำลายทัศนียภาพของชายหาด ส่งผลต่อการประมง และการท่องเที่ยวของหลายประเทศ

“ขยะทะเลที่ย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กๆ จนมองแทบไม่เห็นหรือที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ได้ผ่านเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารสัตว์ในทะเลและผ่านจากอาหารทะเลสู่มนุษย์ ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว การแก้ปัญหาขยะทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย โดย ทส.จึงได้คิดริเริ่มที่จะแก้ปัญหาทั้งนี้เพราะขยะทะเล เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ประเทศในอาเชียน ต่างก็กำลังประสบปัญหาและเผชิญกับความท้าทายร่วมกันจึงได้หารือกับสำนักเลขาธิการอาเชียนในการริเริ่มสร้างความร่วมมือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การจัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่อง การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region จึงเกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศอาเซียน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกัน” รัฐมนตรีทส.กล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะทะเล อาทิ จีน เพิ่งจัดการประชุมการจัดการขยะทะเลในเขตเมืองชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ไปเมื่อช่วงต้นเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเชีย อยู่ระหว่างเตรียมงานจัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องขยะทะเลเช่นกัน สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลพบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเล มีเพียงร้อยละ 20 รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นจัดการ ขยะตกค้าง 30 ล้านตัน ให้หมดไป และจัดการขยะใหม่ ปีละ 27 ล้านตัน ต้องลดที่ต้นทาง นำมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3Rs Forum ในกลุ่มประเทศเอชีย – แปซิฟิก รวมทั้งการออกกฎหมายและการสร้างวินัยคนในชาติ

“ขณะ ทส.ยังร่วมมือกับทุกภาคและภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติก ผลักดันการขับเคลื่อนแผนการจัดการพลาสติก ขยะพลาสติก โดยเน้นหลักการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก รีไซเคิลพลาสติก นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคเอกชนที่ผลิตน้ำดื่ม การลดและเลิกใช้ cap seal หรือพลาสติกที่หุ้มฝาขวด โดยข้อมูลในปี 2559 พบว่ามีน้ำดื่มที่ใช้ cap seal ถึง 2,600 ล้านขวด สำหรับเรื่องขยะทะเล ทส.กำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก และเมื่อช่วงปลายเดือน ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการนำร่องกับหน่วยงานใน 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล กำหนดพื้นที่ชายหาด 24 แห่ง ให้เป็นชายหาดปลอดจากการสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่และขยะอื่นๆ “รัฐมนตรีทส.กล่าว

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เชื่อว่าจะได้ผลตามที่กำหนดไว้และจะยกระดับการแก้ปัญหาเพื่อ ลดปัญหาขยะทะเลในระดับภูมิภาคอาเซียนระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งการจัดทำแผนดำเนินการและช่องทาง การติดต่อของแต่ละประเทศที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะทะเล ทั้งนี้ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล 23 จังหวัด อันดามัน 6 จังหวัด อ่าวไทย 17 จังหวัด สำรวจปี 2559 พบว่า ทั้ง23 จังหวัด มีขยะเกิดขึ้น 10.78 ล้านตัน เป็นพลาสติก 1.3 ล้านตัน มีการจัดการที่ถูกต้อง 0.96 ล้านตัน ขนะพลาสติกที่จัดการไม่ถูกต้องมีโอกาสถูกชะและพัดลงไปในทะเล กลายเป็นขยะทะเลแน่นอน นอกจากนี้ขยะทะเลยังเกิดจากกิจกรรมในทะเลอีกด้วย เช่น การขนส่งทางเรือ เรือสำราญ เรือท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง อีกด้วย

“นอกจากชายหาด 24 แห่งปลอดขยะ ยังมีโครงการลดขยะบนเกาะไข่ จ.พังงา โครงการประชารัฐขจัดขยะทะเล และที่ได้เริ่มใหม่คือการสำรวจตลาด ร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนรอบชายฝั่งใน 23 จังหวัดชายทะเล คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน จะสามารถสรุปได้ว่าในแต่ละพื้นที่มีจำนวนตลาดร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนกี่แห่ง เพื่อขอความร่วมมือลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนภาชนะใส่อาหารเพื่อลดปริมาณขยะให้น้อยที่สุด ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้เราจะประกาศให้กลุ่มประเทศอาเซียนและจีนทราบว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประเทศไทยจะประกาศพื้นที่นำร่อง 24 ชายหาดทั่วประเทศเป็นพื้นปลอดการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ก้นบุหรี่ก็เป็นขยะตัวสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ทำลายทั้งความงดงามและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาด มีการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว เกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏว่าทุกคนตื่นเต้นและเห็นดีด้วยกับเรื่องนี้อย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการประกาศห้ามสูบบุหรี่ชายหาดในกลุ่มประเทศอาเซียน” นายจตุพรกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์