เปิดความคืบหน้า 6 วัคซีนโควิด-19 ฝีมือนักวิจัยไทย

วัคซีน

สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยความคืบหน้าการพัฒนา 6 วัคซีน จากนักวิจัยชาวไทย พร้อมแผนดำเนินการในปัจจุบันและอนาคต

วันที่ 30 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่าย ได้ร่วมเปิดเผยความก้าวหน้าการวิจัย พัฒนาวัคซีนของประเทศไทย รวมถึงแผนที่กำลังดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 หน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ระดมสรรพกำลังในทุกด้านร่วมกันเป็น “ทีมประเทศไทย” ร่วมดำเนินการเพื่อให้ประเทศ ได้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดนี้ไปได้

ทีมประเทศไทยได้มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในหลายชนิด ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีในการเริ่มต้นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ดังนี้

วัคซีน Chula-Cov 19

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อัพเดตความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19 วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งเริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

Advertisment

โดยมีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์

ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน อาการที่พบ ได้แก่ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น และมักพบภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

อย่างไรก็ตาม การทดสอบในขั้นนี้ได้ทำการทดสอบในประชากรจำนวนน้อย และยังต้องติดตามผลความปลอดภัยในประชากรที่มากขึ้น ส่วนในกลุ่มอายุ 55-75 ปี ยังอยู่ระหว่างการทดสอบ คาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นในกลางเดือนหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป

ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน และคาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 พร้อมกันนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19-2 ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อีกด้วย

Advertisment

ศ.นพ.เกียรติกล่าวเน้นย้ำว่า การที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการพัฒนาและผลิตวัคซีนได้อย่างครบวงจรเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

วัคซีนโปรตีน ซับยูนิต

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทใบยา-ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด Protein subunit จากระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืช (Agrobacterium) ในใบยาสูบ ได้กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นพิษในสัตว์ทดลองเรียบร้อยแล้ว

ในระหว่างการพัฒนาได้มีการปรับสูตรวัคซีนให้สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนทำการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ บริษัทได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมขึ้นมา เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าว คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างโรงงานรวม 10 เดือน

ปัจจุบันวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครจำนวน 4 รายแรกตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่พบข้อกังวลด้านความปลอดภัย และจะดำเนินการฉีดให้กับอาสาสมัครรุ่นแรกที่เหลืออีก 12 ราย ในวันที่ 30 กันยายน 2564

สำหรับการทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยา มี ศ.นพ.เกียรติ ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรด้วยการใช้ Adjuvant ชนิดใหม่ ทำให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ แบบพ่นจมูก

ดร.อนันต์ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนชนิด Viral Vector แบบพ่นจมูกว่า สวทช.ดำเนินการวิจัยพัฒนาใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การใช้ Adenovirus เป็นพาหะ (Adenovirus based) และการใช้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นพาหะ (Influenza based)

ขณะนี้ Adenovirus based อยู่ระหว่างการทดสอบในหนูทดลอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไวต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเป็นการเลียนแบบช่องทางการติดเชื้อในธรรมชาติ ทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจ และเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนชนิด Adenoviral Vector เข้ากล้ามเนื้อ

ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่าหนูทดลองสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจได้ดีเทียบเท่ากันทั้งรูปแบบการให้วัคซีนทางการพ่นจมูกและฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนวัคซีนชนิด Influenza based เป็นการประยุกต์ใช้ให้วัคซีนสามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้ในเวลาเดียวกัน

วัคซีนชนิดนี้อยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบในหนูทดลองซึ่งจะเป็นการให้วัคซีนแบบพ่นจมูก โดยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูกนี้ มีทีมวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลกใช้วิธีนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิตวัคซีนชนิด Adenovirus based สวทช.ได้มีความร่วมมือกับบริษัท คินเจนไบโอเทค ส่วนวัคซีนชนิด Influenza based เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. และองค์การเภสัชกรรม

วัคซีน HXP-GPOVac

ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 HXP-GPOVac องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีน HXP-GPOVac ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากไวรัสนิวคาสเซิล (NDV) ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนโปรตีนส่วนหนามของไวรัสโคโรนา (Hexapro) จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในไข่ไก่ฟักได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่องค์การเภสัชกรรมสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในการผลิต โดย

วัคซีนชนิดนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ สถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา และโรงเรียนแพทย์ Mount Sinai ในนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเทกซัส และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ให้กับหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์การเภสัชกรรมด้วย

ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งใช้อาสาสมัครในขั้นนี้จำนวน 210 ราย ผลการทดสอบในอาสาสมัคร พบมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับน้อยและสามารถหายได้เอง อาการทั่วไปที่พบได้แก่ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

วัคซีน HXP-GPOVac อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 โดยคาดว่าจะสามารถทำการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และจะสามารถขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565

วัคซีน Covigen

คุณวิฑูรย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผู้พัฒนาวัคซีน Covigen วัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทดำเนินการตั้งแต่การวิจัยพัฒนาในห้องปฏิบัติการจนกระทั่งถึงการทดสอบในสัตว์ทดลอง ทั้งหมดใช้ระยะเวลา 90 วัน

ทางบริษัทเชื่อว่าวัคซีนรูปแบบที่ใช้สารพันธุกรรมในการผลิตจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาวัคซีน โดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีนที่ต้องการความรวดเร็ว เช่น เพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ และมีความเชื่อว่าต่อไปการพัฒนาวัคซีนจะมีการใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้น

วัคซีน Covigen ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นแรก ได้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ออสเตรเลีย ในช่วงเดือนเมษายน 2564 และต่อมาบริษัทได้เริ่มการพัฒนาวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ สำหรับการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสแรกของปี 2565

วัคซีน Adenoviral vector

นอกจากการพัฒนาวัคซีนเอง ยังมีการผลิตวัคซีนในประเทศที่ดำเนินการด้วยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตวัคซีนในระดับโลก ดร.ทรงพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด Adenoviral vector จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในฐานะผู้รับจ้างผลิต ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการว่า

บริษัท มีความสามารถในการรองรับการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการผลิต Recombinant protein โดยใช้ระบบการผลิตในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แบคทีเรียหรือยีสต์ ได้ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ดร.ทรงพลได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญรวมถึงวิธีการในการรับถ่ายทอดเทคโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้า และถ่ายทอดประสบการณ์สำคัญในการผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับโลก

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะวัคซีนสำเร็จรูปเท่านั้นที่ตลาดเป็นของผู้ขาย แต่วัตถุดิบที่ใช้ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ดังนั้น ผู้ผลิตวัคซีนของทีมประเทศไทย จึงควรมีการวางแผนการใช้วัตถุดิบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนี้ด้วย

ดร.ทรงพลกล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้ทั้งนักวิจัยและผู้ผลิตวัคซีนในประเทศ ได้รับประสบการณ์จริง ในการผลิตวัคซีนในภาวะเร่งด่วน เป็นข้อดีที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งต่อไปจะส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศในอนาคต