บั้งไฟพญานาค เพจเปิดชื่อ 10 หมู่บ้าน ร้องสถานทูตลาวตรวจสอบ

บั้งไฟพญานาค เพจเปิดชื่อ 10 หมู่บ้าน ร้องสถานทูตลาวตรวจสอบ
ภาพจากเฟซบุ๊ก พิสูจน์บั้งไฟพญานาค

แอดมินเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค นำหลักฐานยื่นสถานทูตลาว สืบความจริง ชี้อาจเป็นการยิงกระสุนส่องแสงจากหมู่บ้านฝั่งลาว

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ข่าวสด รายงานว่า นายสมภพ ขำสวัสดิ์ แอดมินเฟซบุ๊กเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาคนำหลักฐานเป็นรายชื่อหมู่บ้าน ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่บันทึกการเกิดบั้งไฟพญานาค เป็นหลักฐานยื่นสถานเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อให้สืบหาความจริงกรณีการเกิดบั้งไฟพญานาคเป็นการยิงกระสุนส่องแสงจากหมู่บ้านฝั่งลาว ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนไทยมานานหลายสิบปี

นายสมภพกล่าวว่าทางเพจได้ตรวจสอบและสังเกตการณ์เรื่องนี้มานาน 10 ปี เก็บรวบรวมข้อมูลมาโดยตลอด โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ขณะนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องบั้งไฟพญานาค

ก่อนที่อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังจะระบุว่ายังไม่มีใครเคยถ่ายภาพบั้งไฟขึ้นจากน้ำได้เลย จึงพยายามหาหลักฐานจากยูทูบ หรือช่องทางต่าง ๆ เพื่อมายืนยัน แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นภาพมืด ๆ และมีลูกไฟขึ้นมาแต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากไหนกันแน่

กระทั่งถึงวันออกพรรษาในปี 2554 จึงตัดสินใจเดินทางไปดูบั้งไฟพญานาคด้วยตัวเอง โดยใช้กล้องถ่ายรูป DSLR เปิดหน้ากล้องไว้นาน ๆ เพื่อให้เห็นลูกไฟเป็นเส้น แต่ภาพที่ถ่ายได้กลับไม่ใช่ลูกไฟขึ้นจากน้ำ แต่ส่วนใหญ่ขึ้นมาจากฝั่งลาวทั้งนั้น โดยลักษณะคล้ายของแข็งและพุ่งขึ้นเป็นเส้นตรง

จากนั้นจึงเริ่มเฝ้าติดตามมาโดยตลอด และเปลี่ยนจุดชมบั้งไฟไปหลาย ๆ จุดหวังว่าจะเจอบั้งไฟขึ้นจากน้ำสักครั้ง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็นำโดรนมาใช้ถ่ายเพื่อหาหลักฐาน เป็นการตั้งกล้องจากฝั่งไทย

ตนพบว่าคลิปวิดีโอที่บันทึกได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลูกไฟที่ปรากฏจากทางฝั่งลาวทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่การยิงจากริมตลิ่ง แต่ยิงลึกลงไปในน้ำ โดยส่วนตัวเชื่อว่า บั้งไฟพญานาคเกิดจากฝีมือมนุษย์

ทั้งนี้ตัวเองได้ตระเวนไปตามหมู่บ้านไทยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงเพื่อพิสูจน์หลายครั้ง ก็พบว่าฝั่งตรงข้ามของไทยซึ่งเป็นหมู่บ้านลาวนั้นมีหลายหมู่บ้านที่เชื่อว่ามีการยิงกระสุนแสงทำให้เกิดบั้งไฟพญานาค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีเพื่อนไปถ่ายจากฝั่งลาว ก็ได้ไปอยู่ใกล้กับคนยิงปืนส่องแสง และยินเสียงการยิงกระสุนชัดเจนจึงรีบหนีออกมา

ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปวัดอาฮงในจ.บึงกาฬ จากการลงพื้นที่ สามารถนับลูกไฟได้ 2 ลูก เป็นลักษณะไฟแดงอมชมพู ซึ่งเกิดขึ้นจากฝั่งลาวเช่นกัน

ที่ผ่านมาแม้จะมีกระแสต่อต้านก็ไม่รู้สึกกังวลใจแต่อย่างใด เพราะมีการเชิญชวนให้พิสูจน์บั้งไฟพญนาค ตนก็คือคนหนึ่งที่อยากพิสูจน์การเกิดบั้งไฟพญานาคเช่นกัน

“ตนก็ไม่ได้ลบหลู่พญานาคแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของการเกิดเหตุการณ์บั้งไฟพญานาคเท่านั้น”

ทั้งนี้ที่บริเวณหน้าสถานทูต มีตำรวจ สน.วังทองหลางดูแลความเรียบร้อยจำนวนหนึ่ง ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าวันนี้สถานทูตปิด นายสมภพจึงได้ยื่นหลักฐานกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ส่งต่อกับเจ้าหน้าที่สถานทูตในภายหลังต่อไป

ขณะที่หมู่บ้านถูกยื่นตรจวจสอบทั้ง 10 มีดังนี้

  • บ.โดนเหนือ เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์
  • บ.นากุง เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์
  • บ.ปากงึม เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์
  • บ.หนองเขียด เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์
  • บ.ห้วยสายพาย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ (ยิงมากที่สุด)
  • บ.ทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
  • บ.หงส์ทอง เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
  • บ.หาดไซ เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
  • บ.ปากทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
  • บ.ทุ่งน้อย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ

บุญบั้งไฟ กระตุ้นศก. หนองคาย

วันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวถึง การดำเนินการจัดกิจกรรมออกพรรษาในจังหวัดหนองคายว่ายังคงมีอยู่ เพื่อให้ประชาชนคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่มีการสืบสานกันมาอย่างยาวนาน พิกัดการรับชมบั้งไฟพญานาคจะกระจายอยู่ตามจุดสำคัญต่าง ๆ หลายจุดในเขตอำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี

ทั้งนี้ ช่วงวันออกพรรษาของทุกปีจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดเป็นจำนวนมาก จากการตรวจเช็กพบว่าปีนี้โรงแรมส่วนใหญ่ในจังหวัดถูกจองจนเกือบจะเต็มแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าการจัดกิจกรรมได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 14 ล้านบาท แต่ในปีนี้ลดขนาดและงดไปบางส่วน จำนวนผู้ที่เดินทางเข้ามาจากปกติ 2-3 แสนคน คาดว่าจะลดลงเหลือไม่เกิน 2 แสนคน

เงินสะพัดจากการใช้จ่ายน่าจะอยู่ที่ 1,500 บาท/คน และจากการสำรวจที่พักถูกจองไว้แล้วกว่า 80% แต่ก็ไม่แน่จะมีผู้เข้าพักได้เต็มจำนวนเพราะมีมาตรการการเดินทางที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด