กรมอุทยานฯนำร่องฟื้นฟูปะการัง คาดเพิ่มประชากรพ่อแม่พันธุ์ ตั้งเป้าฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรม

กรมอุทยานฯนำร่องฟื้นฟูปะการังคาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ เป้าฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมในเขตในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต นายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการฟื้นฟูปะการังในโครงการ “การจัดทำแปลงอนุบาลปะการัง เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังอุทยานแห่งชาติสิรินาถ” รวม 3 พื้นที่ คาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ที่จะผลิตตัวอ่อนจำนวนไม่น้อยกว่า 480 โคโลนี นับเป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมในเขตในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งอื่นๆ ต่อไป ​

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ปัจจุบันแนวปะการังในประเทศไทย และทั่วโลกหลายบริเวณตกอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเกิดพายุ การเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ การระบาดของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น ดาวมงกุฎหนาม การผุกร่อนจากการกระทำของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกับปะการัง จากการเจาะ การปล่อยสารเคมี นอกจากนี้การกระทำที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์โดยตรงจากทรัพยากรที่มีในแนวปะการัง จากการทำประมงโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม การทำประมงเกินขีดการรองรับของธรรมชาติ กิจกรรมการท่องเที่ยวในแนวปะการัง การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่ง กิจกรรมเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายในระบบนิเวศปะการัง ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า กรมอุทยานฯ จึงต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการัง ทั้งวิธีที่ช่วยให้ระบบนิเวศแนวปะการังค่อยๆ ฟื้นฟูด้วยตัวเองแต่อาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน กรมอุทยานฯ จึงต้องหาวิธีช่วยเร่งการเพิ่มขึ้นของประชากรปะการัง โดยเฉพาะปะการังเขากวางที่โดนผลกระทบจากการฟอกขาวเมื่อปี 2553 อีกทั้งจำนวนพ่อแม่พันธุ์ลดลงอย่างมาก ทั้งในบริเวณสิรินาถเองและบริเวณแนวปะการังในเขตใกล้เคียงที่อาจเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ด้วย ดังนั้นการฟื้นฟูแนวปะการังโดยมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงมีความสำคัญและน่าจะช่วยส่งเสริมขบวนการฟื้นตัวของแนวปะการังตามธรรมชาติ ให้เป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับพื้นที่ที่จะทำการฟื้นฟูปะการังจะดำเนินการในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จำนวน 3 พื้นที่ โดยเลือกจากบริเวณที่มีปะการังฟื้นตัวได้ดีและอยู่ใกล้ตำแหน่งที่ฟื้นฟู ได้แก่ บริเวณหน้าศูนย์ประชารัฐ โดยเลือกบริเวณที่ฟื้นฟูคือ บริเวณทิศตะวันตกเกาะปลิง และทิศตะวันตกเกาะแวว และบริเวณศูนย์ประชารัฐพิทักษ์ทะเลเยื้องไปทางที่ทำการในการจัดทำแปลงอนุบาลปะการังทั้งสามบริเวณนั้น เลือกจัดทำในบริเวณพื้นทรายนอกแนวปะการัง หรือบริเวณแอ่งทรายในแนวปะการัง ความลึกประมาณ 6 – 8 เมตร

 

Advertisment

ที่มา : มติชนออนไลน์