‘พล.อ.บุญสร้าง’เปิดเวทีฟังความเห็นปฏิรูปตำรวจ ว่าด้วยการแต่งตั้ง ‘โครงสร้าง-อำนาจ-ก.ต.ช.-ก.ตร.’

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนซันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) เปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…… โดยคณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) เป็นประธาน ร่วมด้วย พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปฯ บรรยายเรื่อง “เจาะลึกร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…..”

โดยพล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ประธานอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น กล่าวรายงานว่า เป็นการเปิดเวทีสัมมนาเพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการตำรวจและผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่จะขอแก้ไขใหม่ หลังจากนั้นจะรวบรวมความเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ200คน ประกอบด้วยตำรวจ 130 คนและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และประชาชนทั่วไป 50 คน และสื่อมวลชนจำนวน 20 คน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็น 1.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)ให้เป็นองค์กรกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ตำรวจ ยกเลิกอำนาจการคัดเลือกแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) 1.1.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ให้เป็นองค์กรกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลและตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งให้มีอำนาจพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งผบ.ตร. เพื่อมิให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาก้าวก่ายการบริหารงานบุคคลของตำรวจโดยให้ผบ.ตร. เป็นประธานและเพิ่มเติมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอกเพื่อเป็นการถ่วงดุลกับกรรมการโดยตำแหน่ง

พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวต่อว่า 2.แก้ไขเพิ่มเติมหลักการในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อป้องกันการใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้ง 3.กำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทุกระดับมีคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งทั้งระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)และระดับกองบัญชาการ(บช.) ให้ทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ 4.แก้ไขเพิ่มเติมให้กระจายอำนาจการแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการ(ผบช.)หน่วยที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บังคับการ(รองผบก.)ลงไป และ5. กำหนดให้การพิจารณาบำเหน็จความชอบเลื่อนเงินเดือนเป็นในรูปคณะกรรมการ

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ต้องทำหน้าที่ในแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยรัฐธรรมนูญประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน เหลือระยะเวลาในการทำงานอีกไม่มาก และการคณะกรรมการปฏิรูปฯ ต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับ อำนาจ หน้าที่ เกี่ยวกับภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารบุคคลให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยการแต่งตั้งต้องยึดหลักคุณธรรม การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่มีแค่คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 77 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อต้องการให้ข้าราชการตำรวจ ผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการยุติธรรม ประชาชน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะต่อร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวต่อว่า สำหรับการพูดคุยในวันนี้เน้นเรื่องการงานที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย งานบุคคล โดยคณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หวังว่าทุกคนที่เข้าร่วมวันนี้จะได้ใช้เวทีในการแลกเปลี่ยนความคิด ข้อเสนอแนะ ในการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จะนำสิ่งที่ได้ไปจัดทำร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. จะต้องแล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ นำส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับขั้นตอนของครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

“คณะกรรมการปฏิรูปฯ แก้ไขแนวทางการเลือกผบ.ตร. โดยให้พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. คนปัจจุบันเสนอรายชื่อผบ.ตร.คนใหม่ตามลำดับ เพื่อนำรายชื่อส่งให้ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกเหลือเพียงรายชื่อเดียว และนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยจะต้องชี้แจงถึงเหตุผลให้ประชาชนรับทราบ วิธีนี้จะมีความโปร่งใส เพราะประชาชนจะรับทราบตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกผบ.ตร. คนใหม่ การเสนอรายชื่อจะต้องเสนอแบบเปิดเผย ยืนยันว่า จากการปฏิรูปตำรวจนี้ ภายในอนาคตจะทำให้ฝ่ายเมืองเข้ามาแทรกแซงตำรวจได้ยากขึ้น เพราะเดิมผบ.ตร.แต่งตั้งโดย ก.ต.ช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่โครงสร้างใหม่ ผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการจะมาจากตำรวจที่เกษียณอายุราชการและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมด้วย ดังนั้นจะทำให้ได้ตำรวจที่ปลอดจากการเมือง แต่ท้ายที่สุดแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือกผบ.ตร.ตามรายชื่อที่เสนอไป”พล.อ.บุญสร้างกล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์