“บิ๊กป้อม” แจงปมโรงไฟฟ้าเทพา ปลัดทส.ชี้อีเอชไอเอยังไม่ผ่าน รอ กฟผ.แก้ส่งให้ คชก.พิจารณาใหม่

“บิ๊กป้อม” ปัดกล่าวหาผู้ชุมนุมเทพาเดินชุมนุม แต่กล่าวหากรณีขัดขวางการทำงานเจ้าหน้าที่ ชี้ยังไม่มีสัญญาณการเคลื่อนไหวคนในพื้นที่

เวลา 09.30 น. วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 4/2560

พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมในกรณีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมทุกรายที่ถูกจับกุมขณะเดินประท้วงอย่างสันติ ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ที่ จ.สงขลา ภาคใต้ของประเทศไทยว่า ไม่ได้กล่าวหาเรื่องเดินขบวนเลย แต่เราใช้กฎหมายความผิดซึ่งหน้า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องของการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้กฎหมายเรื่องชุมนุมเลยแล้วจะมาเอาอะไร และเราประนีประนอมไปแล้ว ปล่อยให้มีการประกันตัว

เมื่อถามว่าอาจมีกลุ่มบุคคลที่สามเข้ามาสร้างความขัดแย้งกับกลุ่มคนในพื้นที่ หรือทำให้แตกแยกเป็น 2 กลุ่ม และทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านหรือไม่

พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ไม่มี อย่าไปพูดมากเกินไป อีกทั้ง คสช.ในพื้นที่ก็ทำความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างละเอียดอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าขณะนี้มีสัญญาณว่ากลุ่มคนในพื้นที่อาจมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มี

ด้าน นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส.ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความเป็นห่วงในที่ประชุม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและรับฟังความเห็นชาวบ้านเพิ่มเติม ทั้งนี้สำหรับขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ผ่านมาคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาอีเอชไอเอ ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว 6 ครั้ง และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำกลับไปทบทวนในหลายประเด็นที่ชาวบ้านเรียกร้อง พร้อมทั้งชี้แจงในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ ขณะนี้ทาง สผ.กำลังรอรายงานอีเอชไอเอฉบับสมบูรณ์จาก กฟผ.ซึ่งยังไม่ได้ส่งกลับมา หากส่งมาแล้วก็ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ คชก.อีกครั้ง หากเห็นชอบก็จะเสนอต่อ กก.วล.และ ครม.ต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์