ฉีดวัคซีนเด็ก : เช็กสูตร ผลข้างเคียง ข้อควรระวัง คำแนะนำ

วัคซีน เด็ก
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

เปิดข้อควรรู้ ฉีดวัคซีนในเด็ก สธ.คิกออฟไฟเซอร์ฉีด 5-11 ปี วันที่ 31 ม.ค. เพิ่ม 2 สูตรฉีดซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “ไฟเซอร์” ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ขวบ โดยเริ่มฉีดในวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ของกรมการแพทย์ก่อน

สำหรับวัคซีนที่จะใช้ฉีดให้เด็กเล็ก 5-11 ขวบ จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์สูตรเด็กโดยเฉพาะ จุดสังเกตคือจะมีฝาสีส้ม ต่างจากสูตรผู้ใหญ่และเด็กโตที่จะใช้วัคซีนสูตรฝาสีม่วง

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ดังกล่าว ได้เข้าประเทศไทยแล้วจำนวน 300,000 โดส เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยในไตรมาส 1 ปี 2565 จะมีไฟเซอร์สูตรเด็กทยอยเข้ามาทุกสัปดาห์จนครบ 3.5 ล้านโดส

ข้อควรระวังฉีดไฟเซอร์เด็ก 5-11 ขวบ

ก่อนหน้านี้ (26 ม.ค.) นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า จากข้อมูลในประเทศไทยมีเด็กทั่วไปอายุ 5-11 ขวบ ราว 5 ล้านคน แต่เด็กกลุ่มเสี่ยงมีอยู่ 9 แสนคน เป็นโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่

  1. โรคอ้วนที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน
  2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดอาการปานกลางถึงรุนแรง
  3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
  4. โรคไตวายเรื้อรัง
  5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  6. โรคเบาหวาน
  7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

แนวทางการฉีดวัคซีนในเด็ก หากเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง ควรทานยาตามที่หมอแนะนำมาอย่างปกติ และทานอาหารมาก่อน และจะมีกุมารแพทย์คอยเช็กอาการเบื้องต้นว่าสมควรฉีดหรือไม่

ส่วนข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กมีอยู่ 2 ข้อ ซึ่งหากมีอาการดังต่อไปนี้ “ยังไม่ควรฉีดวัคซีน”

  1. เด็กอยู่ในช่วงกำลังป่วย มีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาอาการให้หายดีและเลื่อนการฉีดออกไปจนกว่าร่างกายจะกลับมาปกติ
  2. เด็กผู้มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตที่อาการของโรคยังไม่คงที่ ห้ามฉีด นอกจากแพทย์ประเมินว่าฉีดได้เท่านั้น

อาการข้างเคียงเด็ก 5-11 ฉีดไฟเซอร์

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อาการข้างเคียงของเด็กอายุ 5-11 ขวบ หลังฉีดวัคซีนส่วนมากอาการจะไม่รุนแรงและหายไปเองใน 1-2 วัน โดยอาจพบอาการ ดังนี้

  • ไข้ หนาวสั่น
  • ปวด บวม รอยแดง บริเวณที่ฉีด
  • ปวดหัว
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย

ทั้งนี้ จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีนเสมอ

คำแนะนำฉีดไฟเซอร์เด็ก 5-11 ขวบ

  • ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้มสูตรสำหรับเด็ก ขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง เว้นระยะห่าง 3-12 สัปดาห์
  • หากเด็กอายุ 5-11 ขวบ ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ สูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ (ขนาด 10 ไมโครกรัม ฝาสีส้ม) และมีอายุครบ 12 ปี หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยไฟเซอร์ สูตรสำหรับผู้ใหญ่ อายุมากว่าหรือเท่ากับ 12 ปี (ขนาด 30 ไมโครกรัม ฝาสีม่วง) อย่างไรก็ตาม หากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ขนาด 10 ไมโครกรัม ก็ให้ถือว่าผู้นั้นรับวัคซีนครบถ้วน และไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ
  • กรณีเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับผู้ใหญ่ฝาสีม่วงตามแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 (ไฟเซอร์) สำหรับนักเรียน/นักศึกษา อายุ 12 ปีขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า

ไฟเซอร์เด็ก 5-11 ปี

ศธ.ฉีดไฟเซอร์เด็ก 5-12 ปีในสังกัด

ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้เด็กอายุ 5 ขวบ ไม่เกิน 12 ปี (11 ปี 11 เดือน 29 วัน) โดยคาดว่า จะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป และเข็มที่ 2 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

แนะ 2 สูตรฉีดวัคซีนเด็กเพิ่ม

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผย มติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยมีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม 5 สูตร โดยมีกรณีสูตรที่ฉีดสำหรับเด็ก 2 ข้อ ดังนี้

  • กรณีผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็มมาแล้ว สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป แต่คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในเด็กจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • ฉีดซิโนแวคในอายุ 3-17 ปีได้ ที่ขณะนี้รอการขึ้นทะเบียนโดย อย. ซึ่งสธ.จะแจ้งแนวทางการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว