ศบค. พบคลัสเตอร์ “รามาฯ-ศิริราช” ยันไม่ล็อกดาวน์ ไม่ยกเลิก Test & Go

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค.ยันตัวเลขป่วยใหม่พุ่งระบบสาธารณสุขรองรับได้ ระบุผอ.ศบค.สั่งตั้งรพ.สนามพร้อมรับมือ เป็นห่วงคลัสเตอร์กลุ่มสถานพยาบาล ติดโควิดหลายแห่ง ทั้งโรงพยาบาลใหญ่ รามาฯ ศิริราช รพ.มหาราช ที่เชียงใหม่ รพ.ศรีนครินทร์ ที่ขอนแก่น รวมทั้งที่เบตงและสุรินทร์ ยันแม้ตัวเลขป่วยใหม่เพิ่มแต่ระบบสาธารณสุขรับมือได้ เตียงมีเพียงพอ ไม่ประกาศล็อกดาวน์ ไม่ยกเลิก Test & Go ปรามนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ระวังการให้ข้อมูล

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยรายใหม่ 18,883 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 507,763 ราย  หายป่วยแล้ว 373,651 ราย เสียชีวิตสะสม 958 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,731,198 ราย หายป่วยแล้ว 2,542,145 ราย เสียชีวิตสะสม 22,656 ราย

จับตาประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 23 พ.ค.นี้

ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 26,544 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 13,130 รายเข็มที่ 3 จำนวน 101,987 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 20 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 121,725,326 โดส

Advertisment
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 53,126,900 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 49,471,890 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 19,126,536 ราย

“วันนี้ตัวเลขขยับสูงขึ้น ซึ่งหลายท่านก็ติดตาม เพราะวันพุธ(23 ก.พ.) ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมของศบค.ชุดใหญ่ ทำให้มีความเป็นห่วงพอสมควรว่า ข้อมูลนำเข้าตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงสัปดาห์นี้จะเป็นอย่างไร คงต้องดูการตัดสินใจของศบค. แต่คงไม่ได้นำแค่ข้อมูลผู้ติดเชื้อ ต้องดูปัจจัยหลายด้านร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราการเสียชีวิต การป่วยหนัก รวมทั้งระบบสาธารณสุขที่ยังมีศักยภาพรองรับได้หรือไม่ เพราะศบค.จะต้องพิจารณาเรื่องของระบบเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

เร่งฉีดเข็มกระตุ้น เข็ม 3

สำหรับยอดการฉีดวัคซีนล่าสุดอยู่ที่ 141,661 โดส ทำให้ยอดรวมของการฉีดวัคซีนสะสมล่าสุดตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 121,725,326 โดส

“ที่ยังต้องขอความร่วมมือคือเข็ม 3 ตอนนี้ยังน้อยอยู่ ทั่วประเทศอยู่ที่ 19,126,536 โดส หรือคิดเป็น 27.5% ของประชากร จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนและหน่วยงานในท้องที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนด้วย”

Advertisment

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับรายงานสถานการณ์ในต่างประเทศวันนี้ ต้องย้ำที่ต่างประเทศ เพราะเป็นอีก 1 สัปดาห์ที่ยอดการรายงานของผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีทิศทางลดลง ทั้งในส่วนของสหรัฐอเมริกา และประเทศแถบยุโรป โดยทั่วโลกมีรายงานผู้ติดเชื้อบวกไป 1.2 ล้านคน ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 424.99 ล้านคน

สหรัฐ-ยุโรปจ่อยกเลิกมาตรการหลายอย่าง

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 424,990,285 ราย อาการรุนแรง 81,525 ราย รักษาหายแล้ว 350,515,903 ราย  เสียชีวิต 5,906,093 ราย

และอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 80,087,617 ราย 2.อินเดียจำนวน 42,837,960 ราย 3. บราซิล จำนวน 28,208,212 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 22,286,829 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 18,605,752 ราย สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก จากจำนวน 2,731,198 ราย

ทั้งนี้มีรายงานว่าสหรัฐอเมริกากำลังเตรียมยกเลิกมาตรการจำเป็นหลายอย่าง รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะด้วย ซึ่งสหรัฐกำลังปรับทิศทางที่จะอยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งก็ใกล้เคียงกับหลายๆประเทศ โดยยอมรับความเสี่ยงที่ยังสูงอยู่ แต่คงไม่สามารถคุมให้ทิศทางโควิดเป็นศูนย์ได้

“เช่นเดียวกับประเทศในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ ที่จะประกาศผ่อนคลายในวันศุกร์นี้ และจะมีการลดการกักตัวของผู้เดินทางเข้าประเทศด้วย หรือฝรั่งเศส ไนต์คลับเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง หลังจากปิดไป 3 เดือน และ 28 ก.พ.นี้มีแนวโน้มที่จะยกเลิกการสวมใส่หน้ากากอนามัยในอาคารและพื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านอหาร โรงหนัง โรงยิม”

องค์การอนามัยโลกห่วงประเทศแถบเอเชีย

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็มีคำสั่งไปในทิศทางเดียวกันคือไม่ได้ผ่อนคลายทั้งหมด เช่นเดียวกับออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ ยังคงให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัด เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงสถานี่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงพยาบาล และมีการประกาศเน้นย้ำในหลายๆประเทศว่า การประกาศมาตรการทั้งหลายเหล่านี้ เป็นการประกาศใช้ในระยะสั้นเท่านั้น หากตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอาจกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดใหม่ก็ได้

ทั้งนี้ทางองค์การอนามัยโลกก็มีความเป็นห่วงประเทศในแถบเอเชีย และแอฟริกา ว่าจะไปคล้อยตามยุโรปและอเมริกาคงไม่ได้ เพราะตอนนี้ถ้ามาดูตัวเลขของเอเชียจะเป็นขาขึ้น เช่นวันนี้ญี่ปุ่นมีรายงาน 77,153 ราย มาเลเซีย 26,832 ราย เวียดนาม 47,200 ราย สิงคโปร์ 15,283 ราย เกาหลีใต้ทำนิวไฮที่ 104,828 ราย แต่รายงานผู้เสียชีวิต 51 ราย

จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้ประชาชนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สูงถึง 86.3% รวมทั้งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ไปแล้ว 59.4% ของประชากรด้วย ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกก็ขอให้แต่ละประเทศศึกษาปัจจัยของแต่ละประเทศตัวเองด้วย เพราะแต่ละประเทศไม่มีประเทศใดที่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ขณะที่บ้านเราจะไปตามเขาไม่ได้

ยันตัวเลขป่วยใหม่พุ่ง ไม่มีปิดบังข้อมูล

“ย้ำว่าตัวเลขวันนี้ 18,883 ราย เป็น PCR ถ้ารวม ATK ที่กระทรวงสาธารณสุขรายงาน 15,010 ราย เข้าไปด้วย กลุ่มนี้มีจำนวนมากหรือกว่า80% ที่ ATK บวกแล้วไม่ได้เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตรวจ PCR ซ้ำ และเข้าสู่กระบวนการรักษา การแยกกักที่บ้าน หรือ Home Isolation แต่ขอย้ำว่าทางศบค.และกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการปิดบังตัวเลข” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

ส่วนผู้เสียชีวิต 32 รายในวันนี้ 19 ราย ไม่เคยมีประวัติการรับวัคซีนแม้แต่เข็ม 1 คิดเป็น 60% และมี 8 รายที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มก็จริง แต่ว่านานเกิน 4 เดือนแล้ว หรือคิดเป็น 25% และมีอีก 5 รายที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม อยู่ในระยะเวลา 4 เดือน แต่ยังไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เพราะฉนั้นฝากพี่น้องประชาชนว่า หากได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วจะต้องไปรับเข็มกระตุ้นเข็ม 3ด้วย

ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับในวันนี้ อันดับ 1.เป็นกรุงเทพมหานคร 2,753 ราย รองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช 960 ราย สมุทรปราการ 926 ราย ชลบุรี 884 ราย นนทบุรี 852 ราย ภูเก็ต 628 ราย นครราชสีมา 563 ราย ระยอง 475 ราย นครปฐม 429 และอันดับ 10 บุรีรัมย์ 421 ราย และปทุมธานี 421 รายเท่ากัน

“จะเห็นได้ว่าจังหวัดที่รายงานจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งอีก 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว คือไม่ได้เปิดทั้งหมดของจังหวัด จะเห็นว่าทิศทางกราฟค่อนข้างสูงขึ้น รวมทั้งยังมีทิศทางที่ขึ้นๆลงๆอยู่ ซึ่งสูงสุดยังเป็นกทม. และยังมีชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ที่ยังมีทิศทางที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนกลุ่มเสี่ยงแยกตามอายุส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยทำงานอายุ 18-59 ปี อย่างไรก็ตามในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีและกลุ่มผุ้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทิศทางกราฟก็เริ่มเชิดหัวขึ้นเช่นกัน” (ดูกราฟประกอบ)

ห่วงคลัสเตอร์สถานพยาบาล พบรพ.ใหญ่ติดโควิดหลายแห่ง

ส่วนคลัสเตอร์ที่มีการรรายงานในวันนี้เป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารที่เปิดจำหน่ายแอลกอฮอล์ในรูปแบบสถานบันเทิงที่ขอนแก่น สงขลา โรงเรียนพบหลายจังหวัด เช่นที่ น่าน หนองคาย เลย สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ร้อยเอ็ด จันทบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และพะเยา ซึ่งมีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โรงเรียนกีฬาที่สุพรรณบุรี รวมทั้งยังมีระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยพะเยา ม.ราชภัฎร้อยเอ็ด โรงเรียนมัธยมที่น่าน ร้อยเอ็ด เป็นต้น

และอีกคลัสเตอร์ที่มีรายงานการติดเชื้อซ้ำ มีด้วยกัน 6 จังหวัด มีที่ตลาดเทศบาลที่ ต.ขามทะเลสอ ที่นครราชสีมา อุบลราชธานีที่ตลาดวารินชำราบ นครพนม ตลาดสดที่อ.นาแก จันทบุรีที่ตลาดเทศบาลขลุง สุรินทร์เป็นตลาดที่อ.ประสาท เพชรบุรี ตลาดหนองบ๊วย

“จะเห็นว่ามีทั้งตลาดเล็ก ตลาดใหญ่ บางแห่งมีการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งผอ.ศบค.ชุดเล็กฝากย้ำไปยังกลไกในระดับจังหวัด ขอให้กำกับติดตาม โดยเฉพาะตลาดที่มีการติดเชื้อซ้ำซาก ขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงกำกับในพื้นที่ทุกๆระดับ เพราะคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมๆ บางพื้นที่เกิดการติดเชื้อต้องปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพิธีกรรม เช่นงานศพที่มุกดาหาร งานบุญที่กาฬสินธุ์ มีการยืนยัน 15 ราย และยังมีที่หนองคาย ที่นาดี อุดรธานีที่บ้านโนนหวาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดหลังงานพิธีกรรม โดยเฉพาะการเปิดหน้ากากและรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงการเล่นพนัน วงดื่มเหล้า วงไพ่ การพนันชนไก่ เป็นต้น

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับคลัสเตอร์ตอนนี้ที่ศบค.เป็นห่วงอย่างยิ่งคือกลุ่มสถานพยาบาล หรือ Health Care Worker วันนี้มีรายงานของทั้งโรงพยาบาลรามาฯ ศิริราช รพ.ปราสาทที่จ.สุรินทร์ โรงพยาบาลมหาราชที่เชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่ขอนแก่น ซึ่งมีการติดเชื้อก่อนหน้านี้หลายครั้ง รวมถึงโรงพยาบาลเบตงที่ยะลา

“สิ่งที่สำคัญเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อทำให้ต้องกักตัว ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรที่จะให้บริการพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่ศบค.เป็นห่วง ซึ่งในช่วงนี้หากมีการงดการสังสรรค์รวมกลุ่มกันได้ขอความร่วมมือให้ชะลอไว้ก่อน เพราะตัวเลขกำลังสูงขึ้น หรือเอาเท่าที่จำเป็นและเป็นกิจกรรมที่ต้องจัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อปากท้องพี่น้องประชาชน และถ้าจำเป็นต้องจัดก็ขอให้เข้มงวดมาตรการอย่างเคร่งครัด มีการตรวจ ATK สวมหน้ากากอนามัย งดการรับประทานอาหารร่วมกัน”

ยันเตียงรองรับผู้ป่วยมีเพียงพอ

สำหรับจำนวนเตียงในการรองรับผู้ป่วย ที่กรมการแพทย์รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลา17.00 น. ว่าเตียงของโรงพยาบาลทั่วประเทศ อัตราการครองเตียงระดับ 2 ทั่วประเทศตอนนี้ยังอยู่ที่ 19% ในสถานพยาบาลทั่วประเทศระดับ 3 อัตราการครองเตียงยังอยู่ที่ 16.5% ทำให้เห็นภาพว่ายังมีเตียงเพียงพอที่ยังรองรับการเจ็บป่วยหนักและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

อย่างไรก็ตามทางนายกรัฐมนตรี ผอ.ศบค. ได้มีคำสั่งให้ทุกๆจังหวัดเตรียมรพ.สนามรองรับด้วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือกรณีที่ท่านที่พบการติดเชื้อ เป็นผู้ป่วยสีเขียวก็ขอให้เข้ารับการรักษาในระบบ Home Isolation ส่วนผู้ที่ตรวจ ATK แล้วพบการติดเชื้อก็ขอให้เข้าสู่ระบบการรักษาตามที่สปสช.กำหนดไว้ โดยกดสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 เจ้าหน้าที่จะช่วยประสานงานและจับคู่สถานพยาบาลให้ภายใน 24 ชั่วโมง

ยันไม่มีล็อกดาวน์ เตือนนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูล

ต่อข้อสอบถามที่ว่าในการประชุมศบค.ชุดใหญ๋ในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ มีคนเห็นตัวเลขแล้วก็แอบหวั่นใจว่าจะมีการล็อกดาวน์ หรือการยกเลิก Test & Go ในการเดินทางเข้าประเทศหรือไม่ แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนของการล็อกดาวน์หรือไม่ ในส่วนของทิศทางในที่ประชุมของศบค.ชุดเล็กที่มีการประชุมกันและมีหลายหน่วยงานนำข้อมูลนำเข้ามา ไม่มีการพูดถึงความเป็นไปได้ในการล็อกดาวน์

คงต้องเน้นย้ำว่า ศบค.ชุดใหญ่จะมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันและการพิจารณาคงไม่ได้ประเมินเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต หรือผู้ป่วยหนักเท่านั้น แต่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านในด้านของเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนด้วย

“ดังนั้นการที่ประชาชนมีความกังวล เนื่องจากมีการบริโภคข้อมูล อาจจะเป็นนักวิชาการ อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้เกิดความตกอกตกใจ ว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ ต้องยืนยันว่าวันนี้ยังไม่มีทิศทางที่จะมีการประกาศล็อกดาวน์” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวย้ำ และว่า

ขอความร่วมมือนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เวลาที่ท่านให้ความเห็นขอให้ระบุด้วยว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของท่าน เพื่อไม่ทำให้ประชาชน ผู้ประกอบการ มีความกังวล ส่วน Test & Go ก็เช่นกัน หลายคน ก็มีการคาดการณ์ไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าจะมีการระงับการเดินทาง

กล่าวคือถ้าไปดูตัวเลข ของ Test & Go นับตั้งแต่ 10-20 กุมภาพันธ์ จะเห็นว่ามีคนเดินทางเข้ามา 137,090 คน มีรายงานผู้ติดเชื้อ 3,495 ราย คิดเป็น 2.55% กล่าวคือใน 100 คนมีการติดเชื้อไม่ถึง 3 คน และในกลุ่มที่เข้ามาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ มีจำนวน 326,283 ราย อัตราการติดเชื้อยังอยู่ในระดับไม่เกิน 3% ยังถือว่าระบบสาธารณสุขและมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขใช้อยู่ยังรองรับได้

“ศบค.จะมีการรายงานผลการประชุมในวันพุธนี้ และจะมีการอธิบายเหตุผลว่า ถ้าเรายังไม่มีการล็อกดาวน์ จะมีมาตรการรองรับอย่างไร ถ้ายังคงเปิดประเทศรองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรก็จะตามมาด้วยมาตรการที่เข้มงวดอย่างไรก็คงต้องติดตามกัน” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวในตอนท้าย