เจ้าแม่ PPP “ปานทิพย์ ศรีพิมล” เปิดมิติใหม่ “เอกชน-รัฐ” ร่วมลงทุน

ปานทิพย์ ศรีพิมล

เป็นผู้บริหารภาครัฐอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและขับเคลื่อนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของประเทศไทย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ปานทิพย์ ศรีพิมล” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่ PPP”

มาจากสถิติผลงานการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP-Public Private Partnership) ในช่วงปี 2559-ปัจจุบัน จำนวน 21 โครงการ มูลค่ารวมกัน 853,490 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

Q : ปีนี้ทำแผนขยายกรอบเกิน 5 ปี

เราทำแผนให้ล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งครึ่งทางคือปี 2570 แผน PPP ก็เลยขยับเวลาให้ตรงกับปี 2570 เป็นแผนพีพีพีรอบปี 2563-2570 ทุก 6 เดือนเราจะเวียนถามหน่วยงานว่ามีอะไรปรับหรือไม่ มีทั้งปรับเข้าปรับออก

หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ก็อยากใช้งบประมาณปกติ เดิมมีโครงการเดียวแต่ประมูลหลายสัญญา เมื่อทำ PPP ประกาศครั้งเดียวครอบคลุมทั้งโครงการ หน่วยงานทยอยเปิดประมูลทีละสัญญาได้เลย ทำให้มีความคล่องตัว เรื่องนี้จึงเป็นจุดเด่นของ PPP

ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสีชมพู มีนบุรี-แคราย ผู้รับสัมปทานรับไปหมดทุกอย่างเป็นรูปแบบ PPP net cost ทั้งก่อสร้างงานโยธา ทั้งงานระบบ ทำให้โครงการเสร็จเร็ว สายสีชมพูให้สัมปทานเขา 30 ปี ก่อสร้างอีก 3 ปี 3 เดือน จำแม่นเลย ถ้านับตั้งแต่ส่งมอบที่ดินเพื่อเปิดไซต์ก่อสร้าง ไม่ใช่นับวันลงนามสัญญา วันนี้ (ต้นเดือนเมษายน 2565) ใกล้เปิดบริการแล้ว เทียบกับถ้าทำแบบเดิมสร้างรถไฟฟ้าสายเดียวแต่มีรับเหมา 3 ราย ต่างคนต่างทำเสร็จไม่พร้อมกัน งานก็สะดุด ฉะนั้นเป็นจุดดี เอกชนรับไปทั้งหมดเขาก็บริหารได้

Advertisment

ข้อดี PPP ทำให้เราได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานได้ทันกับความต้องการ จะเห็นว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา อย่างพี่บ้านอยู่บางกะปิมีแนวรถไฟฟ้าสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง, สีชมพูไปทางมีนบุรี-แคราย, สีส้มใต้ดินก็ผ่านถนนรามคำแหงไปมีนบุรี เฉพาะ รฟม.นะ ยังมีสายสีเขียวต่อไปถึงคูคต มีทางด่วน มอเตอร์เวย์อีกหลายสาย จะเห็นว่าการให้เอกชนมาร่วมลงทุนทำให้โครงการเกิดได้เร็วขึ้น

สมมติ รถไฟฟ้าแต่ละสายแพงมาก แสนกว่าล้าน งบประมาณรัฐบาลปีละ 3 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุน 20% อยู่ที่ 6 แสนล้าน ใน 1 ปีคิดว่าจะได้รถไฟฟ้าสักสายหรือไม่ และอีกกี่ปีจะมี 10 สายได้อย่างทุกวันนี้

Advertisment

นอกจากนี้ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทย เขาต้องดูองค์ประกอบรอบด้านเพราะต้นทุนสร้างโรงงานเขาแพงแค่ไหน นอกจากค่าแรง การขนส่งทางรางถูกที่สุด ดังนั้นถ้าต้นทุนเราถูกที่สุดเราก็สามารถแข่งคนอื่นได้ PPP จึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้วย

ยุคโควิดยิ่งเห็นชัด งบประมาณรายได้รัฐลดลง ขณะที่ทุกอย่างรัฐทำเองหมดก็ลงทุนไม่ได้ PPP จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง

ต่อไปอยากทำเรื่องเชิงสังคม เช่น บ้าน ที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐทำรองรับผู้มีรายได้ปานกลาง-รายได้น้อย เราไม่ทำบ้านไฮเอนด์แข่งกับเอกชน การเคหะมีที่ดินเยอะแยะ ก็เปิดประมูลให้เอกชนมาทำบ้าน เป็นการแก้ปัญหาเชิงสังคมด้วย แม้แต่โรงเรียน โรงพยาบาล ถ้ารัฐทำเองต้องรอเป็นปี ๆ เราก็ยอมให้เอกชนมาสร้าง ซึ่งเอกชนมาลงทุนก็หวังผลกำไรบ้าง ฉะนั้นให้เขาสร้างไปก่อนแล้วเราค่อยผ่อนจ่ายทีหลัง สิ่งที่ได้คือเราแก้ปัญหาได้ทันความต้องการ

หลักการ PPP ต้องโปร่งใส และเป็นธรรม เอกชนก็จะได้แต่ได้ยังไงที่พอเหมาะพอสม อยู่ในเงื่อนไขทีโออาร์ว่าทำแล้วคุณได้เท่าไหร่ จะมีอยู่ใน revenue sharing ด้วย สมมติ เราให้เพดานกำไร 3% แต่ถ้าทำเกินกว่านี้ ส่วนเกินก็นำมาแบ่งกำไรกัน เป็นมาตรการจูงใจเอกชน แต่ถ้าบอกว่า มีเพดานกำไร 3% ถ้าเกินรัฐเอาหมด ก็ไม่จูงใจเอกชน

Q : มีการเพิ่มประเภทกิจการ

กฎหมาย PPP ปรับปรุงหลายครั้ง เช่น พ.ร.บ.ร่วมลงทุนรัฐและเอกชนปี 2556 พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานและกิจการสาธารณะ เขียนกว้าง ครอบคลุมไว้หมดเลย ทำให้มีปัญหา เราจึงแบ่งใหม่เป็นโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท, ขนาดกลาง 1,000-5,000 ล้านบาท และเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป

ล่าสุด พ.ร.บ.ปี 2562 เห็นจุดอ่อนก็เลยกำหนดโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ 11 กิจการขึ้นมา ตอนเขียนกฎหมายกำหนดยากมาก เช่น ขนส่งทางถนน ทางราง ทางพิเศษ ฯลฯ ก็เลยเปิดมาตรา 12 ไว้ด้วยว่า (กิจการ) “และอื่น ๆ”

กับมี มาตรา 7 วรรค 2 “กิจการที่เกี่ยวเนื่องและจำเป็น” เช่น สนามบินทำที่จอดรถ, ดิวตี้ฟรี จำเป็นไหม เพราะเราไม่สามารถรู้รายละเอียดจึงเขียนกว้าง ๆ แต่ทั้งนี้ให้เป็นไปตามประกาศ คณะกรรมการ PPP เขียนเป็นครั้ง ๆ

Q : โมเดลแผนร่วมทุน PPP

แผนปี 2563-2570 แบ่ง 3 กลุ่มหลัก 1.High priority โครงการจำเป็นเร่งด่วน 2.Normal แผนปกติ และ 3.Initiative กำลังริเริ่ม กำลังศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (feasibility) ตรงนี้ปรับเข้าปรับออกได้

ประโยชน์ของการทำแผน สคร.มีกองทุน PPP มีทุนประเดิม 500 ล้านบาท หน่วยงานไหนอยู่ในแผนแต่ไม่มีเงินศึกษาแผน ต้องทำฟีส สามารถยืมเงินกองทุนได้ เขาก็เลยส่งรายชื่อส่งแผนมาในลิสต์ ถ้าฟีสก็เปิดขายซองได้เงินมาก็เอามาคืน

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยชอบถามมาว่า โครงการเข้า PPP ได้ไหม พี่บอกให้ไปดูกฎหมายจัดตั้งว่าทำได้หรือเปล่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีที่ดินเยอะ ส่วนใหญ่อยากทำโซลาร์เซลล์ ทำพลังงานทดแทน ก็แนะนำให้ไปดูกฎหมายจัดตั้งว่า 1.ตัวเองมีหน้าที่ไหม 2.อยู่ใน 11 กิจการหรือเปล่า

Q : ปัญหาหลัก 3 อันดับแรก

1.เรื่องของความเข้าใจว่ากฎหมายพูดถึงกระบวนการร่วมทุน ปัญหาเยอะเรื่องกระบวนการคัดเลือกเรื่องความไม่โปร่งใส เรากำหนดได้ เช่นตอนนี้เราให้มี “IP-ผู้สังเกตการณ์” เข้ามา

2.มีการร้องเรียนทีโออาร์ไม่เป็นธรรม หน่วยงานต้องดูให้รอบคอบ ซึ่งตอนทำทีโออาร์ต้องรับฟังความคิดเห็นด้วย ทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน

3.ความล่าช้า ทุกกระบวนการเขียนว่าต้องทำภายในกี่วัน จนสุดท้ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ สคร.เป็นหน่วยงานกลางน้ำ ทำจนกระบวนการสุดท้ายของเราคือ ครม.อนุมัติ พอไปกระบวนการคัดเลือก หน่วยงานต้องมีความเร่งรัดด้วย เมื่อได้ผู้ประมูลแล้วการดำเนินการ การเร่งรัดก่อสร้างหน่วยงานก็ควรกำกับอย่างใกล้ชิด

จริง ๆ มีสารพัดปัญหาให้แก้ไขทุกวัน พี่เป็นคนริเริ่มทำ PPP fast track ตอนแรกเป็นคณะทำงาน หยิบโครงการเร่งด่วนมีตัวแทนทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง สงสัยหรือสอบถามอะไร เคลียร์กันตรงนั้น พอเข้าชุดใหญ่บอร์ด PPP สามารถจบได้ในการประชุมรอบเดียว ต่อมา พ.ร.บ.ปี 2562 กำหนดแนวทาง fast track ไว้ในมาตรา 26 เลย คนมองว่า PPP น่ากลัว ยุ่งยาก เสียเวลา เดิมอาจใช้เวลา 2-3 ปี ณ ขณะนี้เหลือ 9 เดือนเท่านั้น

Q : รูปแบบ net cost หรือ gross cost เหมาะกับรัฐ

แล้วแต่โครงการ กับผลการศึกษา ไม่มีสูตรสำเร็จรูป บางสูตรอาจเป็นไฮบริด แต่ ณ ขณะนี้ประเทศเรามีงบประมาณจำกัด กิจการไหนที่ให้เอกชนมาลงทุนได้ net cost น่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับภาวะตอนนี้ รัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงเลย