วันกัญชาโลก สำรวจกระแสตลาดธุรกิจกิน-ดื่ม พบต่อคิวจดทะเบียนอื้อ

ภาพจาก https://www.pexels.com

จับกระแสธุรกิจกัญชา มุ่งกินดื่มเป็นหลัก พร้อมย้อนดูรายงานบิ๊กธุรกิจพาเหรดจดทะเบียนบริษัท รอต่อยอดนโยบายรัฐ กัญชาถูกกฎหมาย

วันที่ 20 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 เมษายน ของทุกปีเป็นวันกัญชาโลก เป็นวันรำลึกถึงวีรกรรมเด็ก 5 คนในสหรัฐอเมริกานัดกันเสพกัญชาในยุค 70s

โดยใช้โค้ดลับ “420” หรือนัดกันในเวลา 16.20 น. (4.20 PM)  จนต่อมาแผลงเป็นวันที่ 20 เม.ย.ในที่สุด ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิในการเสพกัญชาเสรีไปในที่สุด

สำหรับประเทศไทย กระแสการเรียกร้องให้กัญชาถูกกฎหมาย ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การปลดล็อกให้ใช้กัญชาในเชิงการแพทย์ได้เมื่อปี 2562 เรื่อยมาจนถึงการผลักดันด้านกฎหมายที่หัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือ พรรคภูมิใจไทย หยิบเอาประเด็นนี้หาเสียงจนได้รับเลือกเข้ามาในสภา

นอกจากคนไทยทั่วไปที่รอปักชำกัญชา 6 ต้นทั่วประเทศแล้ว บรรดาภาคธุรกิจก็หันมาจับกระแสเรื่องนี้ เพราะเป็นกระแสที่หากพลาด อาจตกขบวนได้ แม้ตลาดนี้เพิ่งเริ่มต้น แต่มีมูลค่าสูงถึง 3,600-7,200 ล้านบาท

อิชิตัน-เซ็ปเป้ ลุยเครื่องดื่มกัญชา

เริ่มต้นที่ธุรกิจประเภทเครื่องดื่ม ที่นำโดยบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด ของเจ้าพ่อชาเขียว เสี่ยตัน ภาสกรนที ที่ลุกขึ้นมาจับกระแสด้วยการออก “อิชิตัน กรีนแลป” น้ำชาเขียวผสมเทอร์ปีนและแอล-ธีอะนีน ออกมาแนะนำตลาดเบื้องต้น ในแบบน้ำตาลน้อยและไม่มีน้ำตาล

โดยวางตลาดทั่วประเทศครอบคลุมทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้ง Traditional Trade, Modern Trade, Convenient Store เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว “อิชิตัน กรีนแลป เดอะ แคนนาบิส คลับ” (ICHITAN GREEN LAB THE CANNABIS CLUB) ไลฟ์สไตล์ คาเฟ่กัญชาที่เกิดจากการผสมผสานกัญชาศาสตร์ รวมเข้ากับอาหารเครื่องดื่มกว่า 30 เมนูที่ชั้น 1 T-One สุขุมวิท 40

แต่ปัจจุบันปิดให้บริการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อิชิตัน กรีนแลป

นอกจากอิชิตันแล้ว  ยังมีอีกอย่างน้อย 1 เจ้าที่สนใจกระแสนี้เช่นกัน นั่นคือ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ที่ส่งเครื่องดื่มเซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ กรีน รีแล็กซิ่งคาล์ม (Green Relaxing Calm) กลิ่นเทอร์ปีน และสารสกัดจากลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ & แอล-ธีอะนีน ลุยตลาด เน้นหนักในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ทุกสาขาทั่วประเทศ

นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SAPPE ระบุว่า ได้รับผลตอบรับดีมาก สามารถเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ และขยายครอบคลุมได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทเตรียมทยอยออกสินค้าใหม่ต่อเนื่องกว่า 20 SKUs ในช่วงที่เหลือของปีนี้

เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ กรีน รีแล็กซิ่งคาล์ม (Green Relaxing Calm) กลิ่นเทอร์ปีน และสารสกัดจากลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ & แอล-ธีอะนีน

โอสถสภา จับมือ ยันฮี ซุ่มพัฒนาด้วย

อีกมูฟเมนต์ที่น่าสนใจ แม้จะยังไม่มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด แต่ก็เริ่มต้นจับตามองกระแสนี้แล้วเช่นเดียวกัน  คือ ความร่วมมือกันระหว่างบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP กับ บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด (ยันฮี) ร่วมมือกันจัดตั้ง บริษัท โอสถสภา ยันฮี เบฟเวอเรจ จำกัด

เพื่อค้นคว้า พัฒนา ทำการตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ซึ่งประกอบด้วย หรือ ใช้ หรือมีส่วนผสมที่ทำจากกัญชา (cannabis) หรือกัญชง (hemp) หรือสารสกัดจากกัญชา/กัญชง

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการได้รับใบอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

M-150 ของกลุ่มโอสถสภา ที่ครองใจบรรดาคนใช้แรงงาน ในวันนี้ได้เริ่มต้นหันมามองกัญชาบ้างแล้ว

สิงห์-ช้าง สบช่อง เบียร์กัญชา

ก่อนหน้านี้ประมาณเดือน มีนาคม 2564  “ประชาชาติธุรกิจ” เคยรายงานถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทจอมยุทธ์น้ำเมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว โดย แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องดื่ม เปิดเผยว่า นอกจากผู้ประกอบการชาพร้อมดื่มหลาย ๆ ค่ายที่สนใจจะนำกัญชามาต่อยอดธุรกิจแล้ว

ตั้งแต่ช่วงปลายปี (2563) ที่ผ่านมา ค่ายเบียร์ช้าง (ไทยเบฟเวอเรจ) ก็มีการเตรียมความพร้อมในหลายด้านทั้งในเรื่องของการวิจัยและแหล่งวัตถุดิบ เพื่อเตรียมจะพัฒนาเบียร์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาทำตลาด ซึ่งตอนนี้รอเพียงความชัดเจนของกฎหมาย

เช่นเดียวกับค่ายสิงห์ (บุญรอดฯ) สนใจจะนำกัญชามาต่อยอดธุรกิจเบียร์และสินค้าอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา R&D

“ส่วนไฮเนเก้นที่ปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศมีเบียร์ที่มีส่วนผสมของกัญชาอยู่แล้ว หากทางการอนุญาตก็คาดว่าจะนำเข้ามาทำตลาดในไทยเช่นกัน” แหล่งข่าวระบุ

อาหารพาเหรดจับกระแสกัญชา

ขณะที่โหมดอาหารการกินก็ไม่พลาด แบรนด์น้อยแบรนด์ใหญ่ร่วมวงในกระแสนี้

เริ่มที่นายภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 ว่า  จากกระแสความนิยมในกัญชาที่เกิดขึ้น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี สนใจและอยู่ระหว่างศึกษาตลาดทั้งในแง่ของการขอใบอนุญาต

เนื่องจากสาขาของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี มีมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ต้องมาดูรายละเอียดว่าจะต้องขอใบอนุญาตเป็นรายสาขาไป หรือต้องขออนุญาตในนามบริษัท ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมพร้อมในการพัฒนาเมนูพิซซ่าที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้

ซึ่งในเวลาต่อมา พิซซ่า คอมปะนีก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ “พิซซ่ากัญชาต้มยำ” ถาดละ 450 บาท ซึ่งขณะนี้หมดโปรโมชั่นไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The Pizza Company 1112

ขณะที่นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เปิดเผยว่า ได้นำร่องกัญชาบนจานอาหารใน 4 ร้านอาหารของบริษัท ได้แก่ “เขียง” “ตำมั่ว” “เดอ ตำมั่ว” และ “ลาวญวน”

โดยให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่า เปิดตัวเมนูอาหารไทยที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ เพื่อสร้างการจดจำเซ็น กรุ๊ป เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารรายแรก ที่เปิดตัวเมนูดังกล่าว

ตอนนั้นเริ่มนำร่องร้านอาหารเดอ ตำมั่ว สาขาเกษร ทาวเวอร์ ชั้น 3 เป็นสาขาแรก เปิดตัวเมนูอาหารไทยใส่ใบกัญชาแล้ว 2 เมนู ได้แก่ ไก่ต้มอารมณ์ดี (ไก่ต้มริมโขง) และยำอารมณ์ดี (ยำผักหวานกุ้งสด)

ที่มาภาพ เพจเฟซบุ๊ก ตำมั่ว ต้นตำรับ

นักธุรกิจใหญ่ ตระกูลยักษ์ร่วมแจม

ย้อนกลับไปที่รายงานของ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 พบว่า ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเกี่ยวกับกัญชามีชื่อของนักธุรกิจชื่อดัง ทายาทตระกูลดัง นักการเมืองท้องถิ่น จำนวนหนึ่งที่ร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา

เช่น นายไกรภูมิ โตทับเที่ยง ทายาทธุรกิจปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” ในนามบริษัท เจนโดว์ จำกัด, นายมารุต บูรณะเศรษฐ อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัทในเครือไทยเบฟฯ ในนามบริษัท แอมโบรส เอเชีย จำกัด, บริษัทโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด ของนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ (บุตรของนายสุเมธ เจียรวนนท์ พี่ชายนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์) ที่ตั้งบริษัท จีทีบี แพลนท์ แฟคตอรี่ จำกัด

นี่คือ ทั้งหมดของกระแสกัญชาในเชิงธุรกิจ  ต้องกลับตาดูว่า เมื่อถึงเวลาปลดล็อกให้แล้วทั้งหมด กระแสการบริโภคหรือเสพกัญชา จะมีอยู่อีกหรือไม่? ต้องติดตามต่อไป