ปลดล็อกกัญชา ปลูกที่บ้านได้หรือไม่ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ภาพจากเว็บไซต์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สแกนร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ประชาชนทั่วไปทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ? และต้องระวังอะไรบ้าง ? 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 กรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เพื่อปลดล็อกทุกส่วนกัญชาออกจากความเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% จะยังถือว่าเป็นสารเสพติด ต้องควบคุมตามเดิม

โดยจะมีผลบังคับใช้อีก 120 วัน หลังจากมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้พืชกัญชงกัญชาพ้นจากยาเสพติด และประชาชนจะสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงได้ ทั้งในด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ รวมไปถึงเกิดการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชน ภายใต้ พ.ร.บ.กัญชากัญชง

นายอนุทินกล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณการเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทย พร้อมเน้นย้ำว่ากัญชาและกัญชงมีประโยชน์มากมาย สามารถนำมารักษาอาการเจ็บป่วย

นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า การใช้กัญชาและกัญชง ยังคงเน้นไปที่การใช้ประโยชน์ต่อกลุ่มประชาชน ทั้งด้านแพทย์ การศึกษา และการวิจัย รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิต สิ่งของ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายที่กำหนด โดยมีกฎหมายเฉพาะไว้ควบคุมตั้งแต่การปลูก สกัด แปรรูป และวิจัย

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ-รมว.สาธารณสุข ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข

แม้ประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับในอีก 120 วัน แต่การควบคุม กำกับและจำกัดการใช้ จำเป็นต้องมีกฎหมายกำกับเพิ่มเติม ซึ่งทางพรรคภูมิใจไทยก็กำลังผลักดัน ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…  อยู่ โดยได้ยื่นให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานำเข้าสู่กระบวนการตราเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565

เปิดสาระร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง

ตามร่างดังกล่าว จะควบคุมเรื่องการปลูก สกัด ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เป็นหลัก รวมถึงการใช้ในเชิงนันทนาการด้วย

การปลูกกัญชา หากใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ต้องมีการจดแจ้งกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และจดแจ้งต่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือผู้ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมาย สำหรับพื้นที่อื่น ซึ่งผู้ขอจดแจ้งต้องเพาะ ปลูก กัญชา กัญชงตามที่ได้จดแจ้งไว้

ส่วนผู้ที่ปลูกเพื่อผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมาย ส่วนการสกัด-แปรรูป ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.เช่นกัน ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อห้ามสำคัญ ห้ามขายกัญชา กัญชง เเก่บุคคลดังต่อไปนี้

  1. ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี
  2. สตรีมีครรภ์
  3. สตรีให้นมบุตร
  4. บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

ทัั้งนี้ ข้อห้ามข้างต้น ไม่ใช้บังคับแก่การขายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สั่งจ่ายให้แก่คนไข้ของตน เพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค

ขณะที่การโฆษณา ต้องมีการขออนุญาตกับ อย.ก่อน ส่วนข้อกังวลเรื่องการควบคุมการใช้ในเชิงสันทนาการ ในร่างดังกล่าวไม่มีระบุถึงการควบคุมกำกับไว้ชัดเจน

บทเฉพาะกาล

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทเฉพาะกาลระบุไว้ ประเด็นสำคัญคือ ในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การนำเข้ากัญชา กัญชง ให้กระทำได้เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้

1. เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย
2. เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

ส่วนตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ เพื่อใช้ในรูปแบบพิเศษสำหรับการเข้าถึงยาตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ.2564 ซึ่งผลิตอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร

และบรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หรือประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าวได้ให้ไว้ และใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้ หรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ที่ออกตาม พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

ภาพจาก กรมวิชาการเกษตร