เก็บ-รักษาคุณภาพเนื้อสัตว์ให้ได้นาน ช่วงLockdown

มาตรการของรัฐบาลเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยการให้ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รวมไปถึงมีแนวทางให้ร้านอาหาร จําหน่ายเฉพาะอาหารที่ซื้อกลับบ้านเท่านั้น แม้ว่าการสั่งอาหารผ่านร้านที่

ให้บริการจัดส่งถึงบ้านยังสามารถทำได้ แต่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เราอาจต้องปรุงอาหารเพื่อบริโภคเอง ซึ่งต้องดูแลตั้งแต่กระบวนการเตรียมอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกในครอบครัวจะได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ และสะอาดปลอดภัย

อาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ได้แก่ อาหารที่เก็บรักษาโดยการแช่แข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้แช่แข็ง ซึ่งเมื่อทำการละลายน้ำแข็งแล้ว ยังมีลักษณะและคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับของสด

ในสถานการณ์ที่หลายๆบ้าน ต้องสำรองอาหารในปริมาณที่มากกว่าปกติ ควรมีการจัดเตรียมที่ดี เพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ในช่องแช่แข็ง สามารถนำออกมาใช้ได้สะดวก และช่วยลดเวลาในการละลายน้ำแข็ง เช่น เนื้อสัตว์

 ควรแล่ให้เป็นชิ้นตามต้องการ แล้วแบ่งใส่ถุงพลาสติก Zip Lock ตามปริมาณที่เหมาะต่อการใช้แต่ละครั้ง และไม่ควรนำส่วนที่เหลือกลับเข้าช่องแข็งซ้ำ

ส่วนเนื้อบดหรือเนื้อที่เป็นชิ้นขนาดเล็ก ไม่ควรแบ่งเก็บเป็นก้อนๆ แต่ควรกดหรือรีดให้เป็นแผ่นแบนๆ เพื่อให้ความเย็นกระจายได้ดี สามารถวางซ้อนกันได้อย่างเป็นระเบียบหยิบออกมาใช้ได้สะดวก และละลายน้ำแข็งได้เร็ว 

สำหรับเนื้อที่แช่แข็งมาแล้ว ไม่ควรนำไปแช่ลงในน้ำโดยตรง แต่ให้ใช้วิธีแช่ถุงเนื้อในน้ำสะอาด โดยระวังไม่ให้น้ำเข้าไปภายในถุง การแช่น้ำจะช่วยให้เนื้ออ่อนตัว ไม่จับตัวเป็นก้อน สามารถตัดแบ่งหรือแยกออกจากกันได้ง่าย 

การเก็บเนื้อสัตว์ปริมาณมากและหลากหลายชนิด ควรเขียนประเภทของเนื้อสัตว์และวันที่ซื้อบนถุงพลาสติก เพื่อให้อาหารที่ซื้อก่อนถูกนำออกไปใช้ก่อน ปกติเนื้อและผลิตภัณฑ์เนื้อแช่แข็งที่เก็บในถุง Zip Lock มีอายุการเก็บรักษา

แตกต่างกันไป อาทิ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อปลา เนื้อบด อายุการเก็บรักษาจะนานกว่า อาหารประเภท เครื่องในสัตว์ ไส้กรอก แฮม เบคอน นอกจากนี้ การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม ยังมีผลต่อการรักษาเนื้อสัตว์

ให้อยู่ได้นาน เช่น การเก็บรักษาเนื้อหมูที่ อุณหภูมิ -1 ถึง 0 องศาเซลเซียส หรือเก็บที่ใต้ช่องฟรีซในตู้เย็น จะเก็บรักษาเนื้อหมูได้นานประมาณ 3 สัปดาห์ หรือหากเก็บไว้ในช่องฟรีซ ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะสามารถ

เก็บได้นานหลายเดือน และหากต้องการเก็บให้นานขึ้น ควรห่อเนื้อด้วยอลูมิเนียมฟอยล์ชั้นหนึ่งก่อนใส่ในถุงพลาสติก Zip Lock เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ที่นานเกินไป อาจมีผลทำให้สารอาหารลดลง และมีรสชาติที่ด้อยลง หากพบว่าเนื้อมีลักษณะแห้งแข็ง มีรอยสีขาวบนผิวหน้า มีสีเหลือง หรือมีกลิ่นที่ผิดปกติแสดงว่าเนื้อแช่แข็งนั้นหมดอายุแล้ว

การประกอบอาหารในช่วงที่เก็บตัวอยู่บ้าน นอกจากจะต้องมั่นใจว่าอาหารสะอาด และปลอดภัยแล้ว ผู้บริโภคต้องรู้จักวิธีการเก็บรักษา เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารให้ได้นานที่สุด

รศ.ดร.พัชรินทร์ ระวียัน คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)