ผู้บริโภคมั่นใจ หมูไทยยังปลอดภัย เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ 

ท่ามกลางความกังวลในสถานการณ์โควิดที่ยังคงมีการระบาดทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง สำหรับวงการหมูแล้วยังมีความท้าทายที่น่ากังวลไม่แพ้กัน กับการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่เล่นงานอุตสาหกรรมหมูในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการบริโภคหมูทั่วโลก ล่าสุด ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน ได้ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากเยอรมนีเป็นชั่วคราว เพราะมีความกังวลด้านความปลอดภัยรัฐบาลเยอรมนียืนยันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ฟาร์มหมูป่าแห่งหนึ่งในรัฐบรันเดินบัวร์ก ใกล้กับกรุงเบอร์ลิน

ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยกันและกัน ในข่าวสารท้องถิ่น และการส่งข่าวทางห้องไลน์ต่างๆ ผ่านมือถือของทุกๆท่าน  เกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดในสุกรที่พบว่าปรากฏในประเทศต่างๆ ครึ่งค่อนโลกแล้ว นั่นคือโรคสุกร ASF ใช้ชื่อในภาษาไทยว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร โรคนี้เป็นเฉพาะสุกรเท่านั้น สัตว์อื่นๆที่ใกล้ชิดจะไม่ติดโรค และโรคนี้ไม่ติดคน ทั่วโลกจึงไม่มีคนได้รับอันตรายใดๆจากการเลี้ยงหรือบริโภคสุกร และยังคงความเป็นเมนูแห่งความอร่อยตลอดไป ดังนั้น ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลใจ สามารถบริโภคเนื้อหมูได้ตามปกติ เนื้อหมูไทยปลอดภัย เนื้อหมูนับเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญและอุดมด้วยสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย 

ประเทศไทย ยังสามารถป้องกันการระบาดวิกฤติ ASF ภายในประเทศได้ จนกลายเป็นประเทศเดียวที่ยังคงสถานะปลอดโรคจนถึงปัจจุบัน จากความร่วมมือกันป้องกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างระดมทุกสรรพกำลัง ร่วมกันบูรณาการในการป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรมปศุสัตว์, กระทรวงมหาดไทย โดยฝ่ายความมั่นคง, สมาคมผู้เลี้ยงสุกร, วงการสัตวแพทย์และสัตวบาล นับเป็นความสำเร็จจากฝีมือของทุกคนที่นำเอาองค์ความรู้ทั้งด้านสัตวแพทย์และสัตวศาสตร์มาใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกร และมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร 

ในส่วนของผู้บริโภค มาตรฐาน “คุณภาพและความปลอดภัย” เป็นหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ในรูปแบบเนื้อหมูสดและเนื้อแปรรูป นอกจากจะเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญตามความต้องการของตลาดแล้ว ด้านผู้บริโภคเองควรมีความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารให้ถูกหลักอนามัย หลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนหรือแฝงมากับอาหารที่มาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย 

 

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผลิตจากฟาร์มเลี้ยง โรงชำแหละ และโรงงานแปรรูปอาหารที่ได้รับมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถสังเกตสินค้าได้จากตรารับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น ตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่กรมปศุสัตว์ออกให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการรับรองจากกรมปศุสัตว์   รวมทั้ง ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่สด ลักษณะกลิ่นสีเป็นปกติ หากมีฉลากควรดูวันผลิตและวันหมดอายุ เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ยิ่งจะช่วยให้มั่นใจในความสะอาด ปลอดภัยจากสารเคมี หรือยาปฏิชีวนะ 

ที่สำคัญ การบริโภคเนื้อสัตว์ในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตในวิถีใหม่ หรือ นิวนอร์มอล ผู้บริโภคต้องยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ด้วยการรับประทานเนื้อหมูปรุงสุกใหม่ก่อนรับประทานทุกครั้ง เพื่อทำลายเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจปนเปื้อน และควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ เพียงเท่านี้ คนไทยได้บริโภคเนื้อหมูอร่อย สะอาด ปลอดภัยได้อย่างสบายใจหายห่วง

โดย ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสุกรในอาเซียนและจีน