เสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยอาหารที่ดี มีประโยชน์ ต้านโรคโควิด-19

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก เป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนส่วนใหญ่ต่างหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ และรักษาความสะอาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าหากมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคต่างๆได้

ระบบภูมิคุ้มกัน คือระบบที่ป้องกันเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย โดยร่างกายจะมีกลไกต่างๆ เช่น กลไกทางกายภาพ ซึ่งเป็นกลไกป้องกันโรคที่กีดขวางไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่นผิวหนัง เยื่อบุทางเดินหายใจ และเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น กลไกทางเคมี เช่นการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร สารคัดหลั่ง เป็นต้น และกลไกที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น การสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว (ทำลายเชื้อโรค) เป็นต้น ดังนั้นหากมีร่างกายที่แข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะลดโอกาสการติดเชื้อจาก COVID-19 ได้ หรือหากติดเชื้อก็จะทำให้อาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง

ปกติแล้วรอบตัวเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ในน้ำ ในดิน เราจึงควรป้องกันจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดี รับประทานอาหารที่สะอาดและทำสุกใหม่ ๆ ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาดเสมอโดยเฉพาะก่อนหยิบอาหารเข้าปาก ไม่ไปอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แสงแดดส่องไม่ถึง อันเป็นแหล่งของเชื้อโรค ไม่ไอ จาม รดกัน ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หากจำเป็นให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือใส่แมส ก็ช่วยป้องกันโรคติดต่อได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยรายงานว่าอาหารสามารถรักษาโรค COVID-19 ได้ แต่อาหารสามารถช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ หากมองในมุมโภชนาการ การกินอาหารที่มีโภชนาการที่ดี เช่น การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และได้รับในปริมาณที่เหมาะสม เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งเป็นสารอาหารหลัก และวิตามิน และเกลือแร่ซึ่งเป็นสารอาหารรอง และการดื่มน้ำที่สะอาด การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ สามารถทำให้ร่างกายของเรามีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถป้องกันเชื้อโรคได้

ยกตัวอย่างสารอาหารบางตัวที่เกี่ยวข้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น 1) โปรตีน เป็นสารอาหารที่ช่วยในการสร้างเซลล์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน (กรดอะมิโนเป็นโมเลกุลพื้นฐานที่สำคัญในการสังเคราะห์โปรตีน) 2) วิตามินซี โดยวิตามินซี เป็นวิตามินที่ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยกระบวนการทำลายเชื้อโรค 3) โพรไบโอติกแบคทีเรีย (probiotic bacteria) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว (เกี่ยวข้องกับการทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย) ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 4) สารอาหารอื่นๆ เช่น ธาตุสังกะสี ซีลีเนียม ทองแดง เหล็ก วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินบีสอง วิตามินบีหก และวิตามินบีสิบสอง ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารสำคัญในการทำงานและสังเคราะห์เซลล์หรือสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันโดยสารเหล่านี้จะทำงานร่วมกัน ดังนั้นการบริโภคสารอาหารแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์ เราจึงควรบริโภคสารอาหารต่างๆ ให้เพียงพอและเหมาะสม

สิ่งสำคัญที่อยากเน้นย้ำคือ ควรเลือกซื้ออาหารจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ โดยซื้ออาหารปรุงสุกจากร้านที่สะอาด มีสุขลักษณะการปรุงอาหารที่ดี หากเป็นอาหารสำเร็จรูป ควรพิจารณาจากเครื่องหมายมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารที่ปลอดภัย เช่น เครื่องหมาย อย. เครื่องหมาย GMP และเครื่องหมาย HACCP เป็นต้น การเก็บรักษาอาหารในที่ที่เหมาะสมและมีภาชนะปิดสนิท สำหรับการปรุงอาหารต้องล้างมือก่อนทุกครั้ง แยกอุปกรณ์ที่ใช้กับอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้วและวัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุกออกจากกันเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม นอกจากนี้ควรปรุงอาหารให้อาหารมีความสุกสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายทั้งหมด

ผศ.ดร.กิติพงศ์ อัศตรกุล

ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์

และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย