ถอดแนวคิด “แอ๊กซอน” จุดพลุ AgriTech กับเป้าที่ไม่ใช่ “รายได้”

สรรเสริญ สมัยสุต

อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของยักษ์ผู้ผลิตอาหารของโลก “ซีพีเอฟ” มาอย่างยาวนาน ล่าสุดยกระดับจากแผนกไอทีภายในบริษัท แยกตั้งเป็นบริษัทต่างหาก พร้อมกับสร้างแบรนด์ ในชื่อ “AXONS” (แอ๊กซอน) กับเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านเกษตรเทคโนโลยี (AgriTech) ระดับสากล เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร และการจัดการห่วงโซ่อาหารของไทยเชื่อมโยงระดับโลกครบวงจร

“สรรเสริญ สมัยสุต” กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารแบรนด์ AXONS กล่าวว่า โครงสร้างประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านคนในปี 2593 สวนทางพื้นที่การเกษตรที่ลดลง ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ในการเพิ่มปริมาณอาหาร เพื่อตอบสนองจำนวนประชากรโลก และความต้องการของคนที่มากขึ้น ทั้งการผลิตพืชผลการเกษตร การทำฟาร์มปศุสัตว์ และการแปรรูปอาหาร จนถึงจุดสิ้นสุดของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) การเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยให้ต้นทุนการผลิตอาหารลดลง คุณภาพ และประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเกษตรระดับโลก มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะโตถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ADVERTISMENT

สำหรับ “แอ๊กซอน” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาไอทีโซลูชั่นในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารครบวงจร จึงมองเป็นโอกาสสำคัญที่จะก้าวสู่การเติบโตในระดับโลก

“เราอยู่เบื้องหลังอาหารทุกจาน ทุกกระบวนการที่เข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูก มีซอฟต์แวร์บริหารจัดการโรงงาน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีเทคโนโลยีเบื้องหลังมากมาย สิ่งที่พัฒนามากว่า 40 ปี ทำให้เราปรับแต่งทำให้เป็นซอฟต์แวร์เพื่อคนไทยที่ไปในระดับโลกได้ เราไม่ใช่แค่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน”

โดยเตรียมเปิดตัวเป็น “โอเพ่นแพลตฟอร์ม” (open platform) นำเสนอเทคโนโลยีมาตรฐานสากล ให้เกษตรกร ลูกค้า และคู่ค้าในอนาคตด้วย

ADVERTISMENT

“สรรเสริญ” บอกว่า เทรนด์เทคโนโลยีกำลังมาถึงจุดสุกงอมที่ทำให้เกษตรเทคโนโลยีเข้าถึงระดับแมสได้แล้ว และว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีได้กลายเป็นมาตรฐานในทุกอุตสาหกรรมไปแล้ว แต่จุดสำคัญไม่ใช่แค่การพัฒนา “ซอฟต์แวร์” หรือเทคโนโลยี แต่คือความเข้าใจ “ธุรกิจ” การนำความต้องการของลูกค้า และ“ตลาด” มาเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรให้ขั้นตอนน้อยลง การนำซอฟต์แวร์มาพัฒนากระบวนการต่าง ๆ และผสมผสานวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร

“โนว์ฮาวคือต้นทุนที่แพงที่สุด การพัฒนาซอฟต์แวร์ 1 ตัว ถ้าพัฒนาเองใหม่หมดต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ๆ แต่ถ้าแชร์โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้ ต้นทุนจะถูกลงมาก เราเป็น AgriTech ที่ตั้งใจพลิกโฉมคุณภาพชีวิต และโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรของประเทศ”

ADVERTISMENT

สร้าง “โอเพ่นแพลตฟอร์ม” เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ เข้ามาใช้งานในราคาที่จับต้องได้

“เดิมเป็นเกษตรกรเหมือนซื้อหวย แต่เมื่อไรที่นำข้อมูลมาใช้ได้ก็จะทำให้วางแผนได้ดีขึ้น อย่างเทคโนโลยีเช็กภูมิอากาศ อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในการเพาะปลูกก็ได้ แต่ความท้าทายคือการให้ความรู้กับเกษตรกรในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะวันนี้ทุกคนมีมือถืออยู่แล้ว แค่เอาแอปเข้าไปใส่ก็ใช้ได้แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่พูดง่าย แต่ทำยาก”

เช่น แอปฟอร์ฟาร์ม ให้เกษตรกรบันทึกการเพาะปลูก เช็กภูมิอากาศ บันทึกข้อมูลต่าง ๆ กลับมาดูสถิติได้ หรือระบบจัดการในโรงงานแปรรูป และมีซอฟต์แวร์บันทึกการขายให้คู่ค้า ร้านโชห่วย เป็นต้น มีซอฟต์แวร์นับ 100 ตัว ที่จะนำไปขยายผลให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มใช้

“ตลอด 2 ปีเราขยายการลงทุน 2 เท่า จากปีละพันกว่าล้าน เป็น 2 พันกว่าล้าน และปีนี้จะเพิ่มบุคลากร จาก 800-900 คน เป็น 1,300 คน เริ่มในไทย และขยายไปในประเทศที่มีการลงทุนของซีพีเอฟ เราไม่ได้มีเป้าหมายในเชิงรายได้เป็นตัวเงิน เพราะจะทำให้แข่งขันยาก ทำยังไงให้ต้นทุนต่ำสุด ทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงคนหมู่มาก หวังว่าจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่พลิกโฉมวงการเกษตรไทย นำคนไอทีไปอยู่ในฟาร์ม แก้เพนพอยต์ต่าง ๆ ทำให้เกิด mass adoption เกษตรเทคโนโลยี ถือเป็นช่วงปลูกต้นไม้เร่งราก ยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว เป็นการลงทุนที่ทำให้พื้นฐานแข็งแรง”