ทีโอทีส่อโดนปรับเน็ตชายขอบ ดีอียังหนุนลุยติดตั้ง 1.5 หมื่นหมู่บ้าน

ตรวจงานเฟสแรก - เลขาธิการ กสทช. "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" พร้อมทีมงานลงพื้นที่ตรวจงานติดตั้งเน็ตชายขอบเฟส 1 โรงเรียนบ้านน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนถึงวันส่งมอบงานงวดแรก 1 มีนาคมนี้

นับถอยหลังเส้นตายส่งมอบ “เน็ตชายขอบ” งวดแรก 1 มี.ค.นี้ แต่”ทีโอที” ยังไม่เริ่มติดตั้ง เสี่ยงโดนปรับ 4.5 แสนบาท/วัน ฟากกระทรวงดิจิทัลฯเตรียมชงบอร์ดดีอี ดึงงาน “ฟรีไวไฟ” เฟส 2 จาก “กสทช.” ให้ “ทีโอที” ดำเนินการอีก ภายใต้งบฯเหลือ “เน็ตประชารัฐ” ฟาก “กสทช.” เล็งเปิดยื่นซองประกวดราคาเฟส 2 สิ้น เม.ย. ก่อนติดตั้งให้เสร็จสิ้นปี”61

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตชายขอบ) 3,920 หมู่บ้าน ของ กสทช. ในส่วนของบรอดแบนด์ มีกำหนดส่งมอบงานงวดแรก 15% ของเนื้องานทั้งหมดในวันที่ 1 มี.ค.นี้ แต่จากการลงพื้นที่สำรวจล่าสุด (8 ก.พ. 2561) พบว่าในส่วนพื้นที่ภาคเหนือ 2 และภาคอีสาน ซึ่ง บมจ.ทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบ ยังไม่ได้เริ่มติดตั้ง เนื่องจากยังจัดซื้ออุปกรณ์ไม่ได้หลายส่วน

ทีโอทีเสี่ยงโดนปรับ 4.5 แสน/วัน

ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ 1 ซึ่งบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นคู่สัญญา ได้ติดตั้งในส่วนของ node ไปแล้ว 15.12% บริการ WiFi 18.61% พื้นที่ภาคกลาง-ภาคใต้ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม ติดตั้ง node ไปแล้ว 9.24% WiFi 5.12% ส่วนพื้นที่ใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อินเตอร์ลิ้งค์ ติดตั้ง node แล้ว 26.67% WiFi 10%

“มีความเป็นไปได้สูงมากว่าทีโอที จะไม่ส่งงานงวดแรกไม่ทัน จะต้องเสียค่าปรับวันละ 0.2% ของมูลค่าบริการแต่ละงวด ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว สัญญาพื้นที่ภาคเหนือจะมีค่าปรับ 210,380 บาท/วัน ภาคอีสาน 249,260 บาท/วัน รวม 2 สัญญาเป็นเงิน 459,640 บาท/วัน”

ขณะที่สัญญาการจัดให้มี สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีกำหนดส่งมอบงานงวดแรก 30% ของจำนวนเป้าหมายสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เท่าที่สำรวจพบว่าทีโอทีก็ยังไม่ได้เริ่มติดตั้งเช่นกัน หากส่งมอบไม่ทัน ค่าปรับคือ 378,000 บาท/วัน

“เท่าที่ทราบ ทีโอทีมีปัญหาจัดซื้ออุปกรณ์ ก็ต้องติดตามงานใกล้ชิดขึ้น เพราะต้องเปิดให้บริการได้ทัน ก.ย.นี้”

กสทช.ลุยเฟส 2 ยื่นซอง เม.ย.

ส่วน การดำเนินการโครงการในเฟส 2 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุม กสทช.วันที่ 14 ก.พ.นี้ พิจารณาเลือกแนวทางประกวดราคาที่เหมาะสม จาก 3 รูปแบบที่เสนอไป คือ 1.การติดตั้งเฉพาะโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเหมือนโครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยให้ใช้บริการฟรี 1 ปี ใช้งบประมาณ 3,200 ล้านบาท 2.ทำเหมือนเน็ตประชารัฐแต่ให้บริการ 5 ปี งบประมาณราว 7,000 ล้านบาท 3.ทำตามโครงการเน็ตชายขอบเฟส 1 คือมีทั้งศูนย์ USO net และให้โรงเรียนและ รพ.สต. ใช้งานฟรี 5 ปี งบประมาณราว 16,000 ล้านบาท

“เมื่อมีมติบอร์ดก็จะเริ่มประกาศ TOR เพราะต้องเร่งให้เสร็จสิ้นปี 2561 แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมอบงบประมาณให้ดีอีไปทำแล้ว แต่มีหนังสือตอบปฏิเสธมา แต่ล่าสุดก็มีการประสานว่าจะดึงบางส่วนกลับไป ก็ต้องรอหนังสือแจ้งเป็นทางการก่อน เมื่อยังไม่มีก็ต้องเดินหน้าไปก่อน จะรอไม่ได้เพราะรัฐบาลต้องการให้ทุกหมู่บ้านมีบรอดแบนด์ใช้ครบในสิ้นปีนี้”

ด้านแหล่งข่าวภายใน กสทช.กล่าวว่า คาดว่าจะประกาศ TOR เพื่อประชาพิจารณ์ราวสิ้นเดือนนี้ ก่อนเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการราวกลางเดือน มี.ค. เป็นเวลา 30 วัน และเปิดให้ยื่นซองประกวดราคาราว เม.ย.นี้

“ล่าสุดอีกทีดีอีประสานมา ว่า จะขอเฉพาะส่วนการติดตั้ง WiFi 15,732 หมู่บ้านให้ทีโอทีดำเนินการ เพื่อให้เป็นโครงข่ายเดียวกับเน็ตประชารัฐ แต่ กสทช. จะยังเดินหน้าประกาศ TOR ต่อ แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกงานส่วน WiFi ออก เพื่อให้งานไม่ชะงัก เพราะตามโครงการจะแบ่งสัญญาออกเป็น 5 กลุ่มงานอยู่แล้ว ถ้าดึงงาน WiFi ออก จะเหลือส่วนที่ประกวดราคาราว 12,000-13,000 ล้านบาท สำหรับให้บริการฟรี 5 ปี”

โดยสัญญาจะถูกแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.การติดตั้งโครงข่าย WiFi 15,732 หมู่บ้าน 2.การสร้างศูนย์ USO net สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ 3.การปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นศูนย์ USO net 4.การลากสายเพื่อให้บริการบรอดแบนด์กับโรงเรียนในพื้นที่ 3,170 แห่ง 5.การลากสายเพื่อให้บริการบรอดแบนด์กับ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) 91 แห่ง

ดีอีหนุนทีโอทีลุย WiFi เฟส 2

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัยปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐ มีงบฯเหลืออยู่ราว 4,000 ล้านบาท จึงเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาให้นำเงินส่วนนี้มาติดตั้งโครงข่ายใน 15,000 หมู่บ้าน ที่ กสทช.ต้องรับผิดชอบ โดยจะมอบหมายให้ทีโอทีดำเนินการ ซึ่งกระทรวงกำลังเตรียมทำรายละเอียดอยู่

“เราบริหารงบประมาณได้ดี มีเงินเหลือพอที่จะทำเฟส 2 ได้ ก็จะให้ทางบอร์ดพิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งเดิมตั้งใจจะเสนอในที่ประชุมวันที่ 15 ก.พ.นี้ แต่มีการเลื่อนวันประชุมออกไป และยังไม่ได้กำหนดใหม่”