เนื้อจากห้องแล็บ สู่ตลาดแมสที่ใกล้เป็นจริง

UPSIDE Foods
คอลัมน์ : Tech Times 
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

เราคงคุ้นตากับอาหารที่ทำจากเนื้อเทียมหรือเนื้อที่ทำจากพืชกันมาแล้ว แต่เนื้อจากห้องแล็บหรือเนื้อที่เกิดจากการเพาะเซลล์ของสัตว์ น่าจะเป็นทางออกที่ถูกจริตคนชอบกินเนื้อมากกว่า เพราะยังได้กินเนื้อที่เป็นเนื้อจริง ๆ ในขณะเดียวกันก็ช่วยไถ่ชีวิตสัตว์จำนวนมากและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากหน้าตาและรสชาติจะเหมือนเนื้อทั่วไปแล้ว กระบวนการผลิตทั้งหมดยังใช้เวลาแค่ 2-8 อาทิตย์ ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับการเลี้ยงวัว หรือหมูที่ใช้เวลาหลายเดือน นอกจากนี้ การเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดยังทำให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภคมากกว่าด้วย เพราะไม่มีการใช้ฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะและมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคน้อย

การบริโภคเนื้อจากห้องแล็บยังหมายถึงการไม่ต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เพราะแต่ละปีมีสัตว์เกือบ 8 หมื่นล้านตัวต้องถูกเชือดเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์

ข้อดีอื่น ๆ ประกอบด้วย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปศุสัตว์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดนโจมตีมากที่สุดในเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งปล่อยก๊าซเรือนกระจก (14.5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด) และการช่วยลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว

ปัจจุบันเนื้อจากห้องแล็บมีวางขายในประเทศสิงคโปร์ประเทศเดียวเท่านั้น แต่อีกไม่นานเราอาจได้เห็นอาหารประเภทนี้มากขึ้น หลังจาก UPSIDE Foods สตาร์ตอัพจากแคลิฟอร์เนีย ได้รับใบรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าอกไก่ของบริษัทปลอดภัยต่อการบริโภค แต่บริษัทยังต้องได้รับการอนุมัติจาก Food Safety and Inspection Service (FSIS) ก่อนที่จะวางขายเชิงพาณิชย์ได้ โดยบริษัทตั้งเป้าเจาะกลุ่มร้านอาหารให้ทันปีนี้ก่อนวางจำหน่ายตามห้างทั่วไปในปี 2028

นอกจาก UPSIDE Foods ยังมี GOOD Meat สตาร์ตอัพอีกรายที่จ่อคิวรอใบอนุญาตอยู่ แต่การผ่านด่านผู้คุมกฎเป็นเพียงอุปสรรคแรกเท่านั้น ปราการด่านต่อไปในการนำเนื้อจากห้องแล็บสู่ตลาดแมสคือ การระดมทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้มากพอจะแข่งกับเนื้อปกติได้ ปัจจุบัน UPSIDE สามารถผลิตเนื้อได้แค่ 4 แสนปอนด์ต่อปี เทียบไม่ได้เลยกับตลาดเนื้อสัตว์ในอเมริกาที่ผลิตได้กว่า 106 พันล้านปอนด์ต่อปี

โจทย์หินอีกข้อคือ การชนะใจผู้บริโภค เพราะการทำตลาดเนื้อทางเลือกไม่ใช่เรื่องง่าย ดูอย่าง plant-based meat ที่มีการโฆษณาและวางขายมาได้พักหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีมาร์เก็ตแชร์แค่ 1.4% ของตลาดเนื้อสัตว์ทั้งหมด

แม้บริษัทที่พัฒนาเนื้อจากห้องแล็บจะมองว่าตัวเองได้เปรียบกว่าตรงที่เนื้อจริง ๆ ไม่ใช่เนื้อเทียม แต่จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Environmental Psychology ในปี 2022 พบว่า 35% ของคนกินเนื้อยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเนื้อจากห้องแล็บ โดยรู้สึกว่ามันฟังดูไม่น่ากินและไม่เป็นธรรมชาติ

ดังนั้น บริษัทจำเป็นต้องโน้มน้าวผู้บริโภคให้เปิดใจให้ได้ ทั้งการแสดงให้เห็นว่าเนื้อที่ผลิตได้นั้นมีความปลอดภัยต่อการบริโภค นอกจากนี้ ยังมีการเซ็นสัญญากับเชฟชื่อดังให้สาธิตการทำอาหารจากเนื้อจากห้องแล็บด้วย
แต่การผลิตเนื้อจากห้องแล็บเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตแน่นอน เมื่อพิจารณาจากปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงมีสตาร์ตอัพด้านนี้กว่า 100 แห่งทั่วโลก โดยระดมทุนรวมกันได้หลายพันล้านเหรียญจากนักลงทุนสถาบันและบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง บิล เกตส์ และ ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ เป็นต้น

การที่สิงคโปร์อนุญาตให้ Eat Just (เครือเดียวกับ GOOD Meat) จำหน่ายอกไก่เชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2020 ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่สิงคโปร์มีลักษณะเฉพาะตรงที่เป็นเกาะขนาดเล็กและต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าสูงถึง 90% ทำให้รัฐบาลต้องหาทางเพิ่มการผลิตอาหารทางเลือกมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งอาหารภายนอก

ดังนั้น จึงอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปว่า เนื้อจากห้องแล็บจะเป็นทางออกของปัญหาการขาดแคลนอาหารและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เพราะตราบใดที่ยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากภายนอก โอกาสที่จะแข่งขันในตลาดอย่างยั่งยืนก็ยังคงไม่สดใสนัก

เอาเป็นว่า สำหรับอนาคตอันใกล้เราคงได้เห็นการทำตลาดของเนื้อจากห้องแล็บมากขึ้น แต่จะสามารถทำสเกลได้ใหญ่ขนาดเทียบชั้นเนื้อจากฟาร์มหรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันยาว ๆ