เปิดมุมมอง “มรกต เธียรมนตรี” บิ๊ก NT ฝ่าทางตันสายสื่อสารลงดิน

มรกต เธียรมนตรี
สัมภาษณ์

นโยบายการจัดระเบียบเมือง โดยนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินนั้น พูดถึงมายาวนานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติสะดุดล่าช้าอย่างมาก ด้วยว่าเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวถนนของกรมทางหลวง, หน่วยงานปกครองท้องถิ่น, เสาไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนครหลวง, สายสื่อสารของผู้ให้บริการโทรคมนาคม แม้กระทั่งสายที่ต่อเชื่อมเข้าบ้านประชาชน ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทาย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “มรกต เธียรมนตรี” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้โดยตรง เพื่อสะท้อนมุมมองทั้งที่เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงวิธีการและแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง

ปัญหาและอุปสรรคสำคัญ

ที่ผ่านมา ผู้บริหารเมืองอยากเร่งให้การนำสายไฟสายสื่อสารลงดินเกิดขึ้นเร็วที่สุด แต่ไม่ง่าย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายส่วนงาน อย่างกรณีเอ็นทีซึ่งดูแลสายสื่อสาร ที่พาดแขวนบนอากาศ ก็ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดูแลโดย กสทช. ทำให้ผู้ว่าฯเมือง หรือใครจะสั่งการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรื้อลงมาเลยไม่ได้

ทีนี้เมื่อสายสื่อสารที่แขวนบนอากาศได้รับการคุ้มครอง คนก็มักมองไปที่การไฟฟ้า ทั้งส่วนภูมิภาค และนครหลวงที่ดูแลเสาไฟฟ้าทั่วประเทศ และกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของเขา ทั้งพื้นที่ที่สายไฟรกรุงรังมักเป็นเขตเมืองหรือเขตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว ปัญหาที่ตามมา คือ กฟน. กฟภ. จะได้รับอนุญาตให้เจาะผิวถนนจากหน่วยงานในท้องถิ่นก็ยาก เพราะการสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใหม่ใช้เวลานาน และกระทบการจราจรของเมืองอย่างมาก

ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง

เรามองว่าเรื่องโครงข่ายสายไฟ หรือสายสื่อสารควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจ เพราะเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ แต่ที่ผ่านมาคิดแยกกัน ทำคนละอย่าง จนเมื่อไม่นานนี้ ตนเพิ่งมาคิดได้ว่าเรากำลังนั่งทับขุมทรัพย์

เพียงแต่มองไม่เห็น นั่นคือ โครงข่ายท่อร้อยสายที่มีอยู่ ก็ร้อยสายไฟฟ้าเข้าไปด้วยได้ และมีมากพอสำหรับสายไฟฟ้าสำรอง

ขณะนี้กำลังทดสอบแนวคิด (Proof of Concept) กับการไฟฟ้าทั้งนครหลวง และภูมิภาค จะเป็นการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรร่วมกันของ 2 รัฐวิสาหกิจ

เอ็นทีมีท่อร้อยสายใต้ดิน 4,450 กิโลเมตร แบ่งเป็นท่อร้อยสายในนครหลวง 3,600 กิโลเมตร ภูมิภาค 850 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายเดิมขององค์การโทรศัพท์ฯที่ทำไว้เมื่อ 50 ปีก่อน ท่อร้อยสายสื่อสารหนาแน่นอย่างมากในเขตเมือง สายทองแดง ซึ่งเป็นสายสื่อสาร สายโทรศัพท์รุ่นเก่า เมื่อนำไปขายก็จะกลายเป็นท่อร้อยสายว่าง ๆ

เหมือนได้นกสองตัว ตัวแรก ทองแดงนำไปขายเป็นรายได้ ตัวที่สอง ได้พื้นที่ของท่อ ที่เรียกว่า duct เราใช้ท่อนี้น้อยลงมาก เพราะเทคโนโลยีสายไฟเบอร์ปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าทองแดงยุคก่อนมาก ดังนั้น ตลอด 2 ข้างถนน บางเส้นมีท่อร้อยสาย 2 ฝั่ง สูงสุด 12 duct เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว หนูตัวใหญ่ ๆ วิ่งได้สบาย เรามีเยอะ แต่ยังไม่มีการนำมาใช้งาน

ท่อที่เรามียาวกว่า 4 พันกิโลเมตร เพราะการวัดระยะ วัดจากท่อที่ทำคู่กับถนน แต่ระยะถนน ไม่ว่าถนนเส้นหนึ่ง ต้องมีทองแดงทั้ง 2 ข้าง มีอยู่ใต้ผิวถนนเลนส์หนึ่ง 50 ปีก่อนบางเส้นอยู่ใต้ฟุตปาท ต่อมาฟุตปาทไม่มีแล้ว ขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4-6 เลน ท่อก็เลยอยู่กลางถนนบ้าง

ข้อสังเกต คือ จะมีฝาเรียกว่า “แมนโฮลด์” เป็นเหล็กอยู่บนพื้นผิวถนน

นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้

นั่นคือขุมทรัพย์ที่เรานั่งทับมานาน ตลอดเวลา เรานึกว่าการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้าฯ ต้องขุดลึก 3 เมตร และเราฝังใจมาตลอด เพราะเราแยกกันคิดแยกกันทำ โดยลืมไปว่าสายไฟฟ้ามี 3 ระดับแรงดัน ต่ำ กลาง สูง สายที่ต้องขุดลึก 3 เมตรคือแรงดันสูง ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเขตเมือง และเขตเมืองล้วนมีท่อร้อยสายของเราเดินคู่ขนานไปด้วย

วันหนึ่งผมนึกขึ้นได้จึงปรึกษาวิศวกรของเราว่าสายไฟฟ้าแรงดันต่ำถึงกลางที่พาดอยู่ในเมืองนี้ เส้นผ่านศูนย์กลางเท่าไหร่ เขาบอกว่าไม่เกิน 2 นิ้ว ผมคำนวณดูว่าสายไฟฟ้ามี 4 เส้น รวมกระแสสำรองเป็น 8 เส้น เรามี 12 รูท่อ (duct) ดังนั้นมีเหลือเฟือ จึงถามต่อไปว่าแล้วพวกเทคโนโลยีปลอกหุ้มท่อและการป้องกันอันตรายต่าง ๆ ทำได้ไหม บอกเลยว่าได้ สายไฟในท่อร้อยสายที่โดนน้ำท่วมมานานหลายสิบปีไม่เคยเสียหาย

เราจึงทำ Proof of Concept และพูดคุยเจรจากับทางการไฟฟ้า เพื่อหาข้อตกลงที่จะลองทดสอบโครงการนำร่องได้

เรื่องนี้สำคัญมาก หากเราช่วยการไฟฟ้านำสายไฟฟ้าแรงดันต่ำถึงกลางลงดินในเขตเมืองได้ เสาไฟฟ้าก็ไม่มีความจำเป็น เมื่อไม่มีเสาไฟฟ้า “สายสื่อสาร” ก็จะถูกนำลงดินโดยสภาพบังคับทางกฎหมาย

มีโอกาสเกิดขึ้นแค่ไหน

การเจรจากับการไฟฟ้าให้ใช้ท่อร้อยสายของเอ็นที อยู่บนการต่อรองที่ “วิน-วิน” 4 ระดับ

1.การไฟฟ้า แก้ปัญหาสายไฟในเขตเมืองได้รวดเร็ว มีการตั้งงบประมาณ และเบิกจ่ายได้อย่างคุ้มทุนกว่าการทยอยขุดผิวถนนทำทีละเล็กน้อย ดีลนี้จะช่วยให้การไฟฟ้าสะดวกขึ้น ทำตามความคาดหวังของประชาชนที่อยากเห็นบ้านเมืองเป็นระเบียบได้เร็วขึ้น

2.มหาดไทย/หน่วยงานท้องถิ่น ไม่ต้องปิดถนนตั้งงบฯใหม่ เมื่อนำสายไฟ สายสื่อสารที่หนาแน่นในเขตเมืองลง ก็ทำให้เกิดความปลอดภัยจากปัญหาสายไฟไหม้ หรือหลุดร่วงมาเกี่ยวคน สร้างทัศนียภาพที่ดีให้เมือง

3.โอเปอเรเตอร์ เอ็นทีเสนอให้ใช้ในลักษณะ last mile provider รองรับทั้ง broadband และ data service ลดการลงทุนซ้ำซ้อน และใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ถนนเส้นหนึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการต่อสายสื่อสาร หรืออินเทอร์เน็ต 100 หลัง แต่มีผู้ให้บริการ 5 ราย ทุกรายต้องสร้างโครงข่าย 100 เส้น รวมกัน 500 เส้น สะสมพอกพูน แต่ละรายมีต้นทุนรักษาสาย 100 เส้น แต่เมื่อแข่งขันกันจริง ๆ รายที่เก่งอาจครองตลาด 30% ผู้ที่ได้น้อยสุดอาจแค่ 5% ถามว่าอีก 70% ที่ต้องสร้างและรักษา จะกลายเป็นต้นทุนเสียเปล่า เราเสนอให้ใช้ระบบท่อร้อยสาย และโครงข่าย single last mile ของเรา

ผู้ประกอบการไม่ว่าจะได้ 30% หรือ 5% เราเป็นผู้บำรุงรักษาสายให้ เป็นผู้ต่อสายเข้าบ้านของลูกค้า 100 หลังนั้นได้ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์นำต้นทุนที่ต้องทำเองไปแข่งด้านอื่น ๆ เช่น ความเร็ว ความเสถียร

ก่อนหน้านี้โอเปอเรเตอร์มอง 2 เรื่อง คือ ค่าเช่าแพง และเอ็นที บริหารจัดการท่อไม่ดี

เรื่องแรก การคำนวณค่าเช่าใช้ท่อเปลี่ยนไป เราเห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องร้อยสายทั้งหมดลงท่อ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น หรือจ่ายเท่าที่ใช้ จะอยู่ราว 90-120 บาทต่อยูสเซอร์ มีลูกค้าหรือยูสเซอร์กี่หลังก็เช่าแค่นั้น เมื่อลูกค้าเลิกใช้ สายสื่อสารยังอยู่ แต่โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องจ่ายต่อ เราก็จะนำไป provide คนอื่นต่อ

ส่วนที่มองว่า เอ็นทีเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ทำงานเสาร์-อาทิตย์ หรือ 24 ชม. หากเกิดปัญหา ใครจะดูแลโครงข่าย ผมอยากบอกว่าโอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ ล้วนจ้างบริษัทภายนอกช่วยบำรุงระบบ เราก็จ้างมาช่วยบริหารจัดการได้ ส่วนเทคโนโลยี ยืนยันว่าใช้งานได้อย่างดี ดังนั้นเมื่อค่าเช่าถูกลง ต้นทุนก็ถูกลง เราเองก็ได้ใช้ท่อและสายที่ว่าง วิน-วินทั้งคู่

4.ประชาชนได้ประโยชน์ เมื่อสายไฟฟ้าลงดินจะเกิดความปลอดภัย และทัศนียภาพที่ดี หากโอเปอเรเตอร์ต้นทุนลดลง ก็จะหันไปโฟกัสการแข่งขันด้านบริการ และอื่น ๆ ที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ได้

ความอยู่รอดของเอ็นที

ความพยายามที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มี เหมือนการแสวงหาความอยู่รอดในอนาคตของเอ็นทีด้วย การเจรจากับการไฟฟ้า หากสำเร็จและบรรลุข้อตกลงร่วมกัน อีกส่วนที่ต้องพูดถึง คือ “ค่าเช่า” เขาถูกกดดันมาตลอดว่าจะเอาเสาไฟลงได้เมื่อไร อย่างไร สมมุติขุดถนนใหม่ กิโลเมตรละ 5-7 ล้านบาท ซึ่งอาจสูงกว่านี้ ต้องคิดว่ากี่ปีคืนทุน ถ้าตั้งงบฯแบบนี้อีกร้อยปีจะทำเสร็จไหม เราเองก็ต้องคิดว่าจะให้เขาจ่ายให้เราได้สูงสุดเท่าที่จ่ายไหว แต่ก็ต้องคำนวณความคุ้มทุนของเราด้วย แล้วไปเสนอให้ตัดสินใจง่ายขึ้น

ในกรุงเทพฯค่าเช่าน่าจะอยู่เดือนละ 5 หมื่นบาทต่อกิโลเมตรต่อเดือน เงินเหล่านี้ก็เป็นเงินหลวง ที่เกิดจากการบริหารทรัพยากรของประเทศ เลยมองว่าทั้งโครงข่ายไฟฟ้าและท่อสายสื่อสาร เป็นโครงสร้างพื้นที่ 2 รัฐวิสาหกิจต้องเข้ามาทำ ไม่ใช่เอกชน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว คลื่นลูกใหญ่ที่รอเอ็นทีอยู่ คือ การหมดอายุของสัญญาเอไอเอส ในคลื่น 2100 MHz ทรู คลื่น 2300 MHz ดีแทค คลื่น 850 MHz จะหายไปในปี 2568 รวมกว่า 60,000 ล้านบาท มากกว่า 50% ของรายได้รวม รวมถึงรายได้อื่น ๆ ที่เกิดจากพันธมิตรก็จะลดลงตาม

ความอยู่รอดของเอ็นที คือ สภาพคล่อง ไม่ใช่แค่รายได้อย่างเดียว ก่อนหน้านี้ ซีอีโอเอ็นทีเคยพูดถึงการที่จะลดต้นทุนด้วยการมีโครงการเกษียณก่อน ซึ่งเราจ่ายคุ้มมาก ๆ ทั้งคาดหวังรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะสปินออฟออกไป หรือเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่มีโอกาสเติบโต จะไม่เข้าไปบริหารเอง แต่กับกรณีท่อร้อยสาย ควรเข้าไปบริหารในฐานะรัฐวิสาหกิจ